นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงจัดอบรมชี้แจงการสำรวจข้อมูลภาคสนามการจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1:4000ตามโครงการจัดทำข้อมูลแผนที่การใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร ณ ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 27มิถุนายน ที่ผ่านมา หลังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากการนำข้อมูลไปใช้ เนื่องจากเห็นว่าเกิดประโยชน์สูง และลดข้อขัดแย้งได้จริง โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ)ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดอบรม
สำหรับการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจหลักของ สศก.นั้น กำเนินการใช้ข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) มาจำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง อย่างข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมสำหรับจัดทำข้อมูลในเชิงพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง สอดคล้องกับข้อเท็จจริง สามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรของจังหวัด ให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรกรณีแจ้งและรับรองข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริง รวมถึงได้รู้ข้อมูลพื้นที่ผู้ประสบภัยพิบัติชัดเจนยิ่งขึ้น โดยร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงจากภาพถ่ายออร์โธสี ภาพถ่ายดาวเทียม รายละเอียดเป็นรายตำบล ซึ่งในปี 2557 ได้คัดเลือกพื้นที่ ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นตำบลนำร่อง ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมรับการอบรม ประกอบด้วยผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด ธ.ก.ส. สภาเกษตรกร ปลัดอำเภอพิชัย ผู้แทนเกษตรอำเภอพิชัย นายก รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 12 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้นำ ตัวแทนองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 70 คน
นอกจากนี้ การจำแนกข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงดังกล่าว ยังสามารถบอกแหล่งที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ ลักษณะรูปร่างของแปลง และการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทางการเกษตร ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพืชชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่จริงที่เป็นปัจจุบันทั้งในเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ได้ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรมีความถูกต้องสามารถเรียกค้นและปรับแก้ไขข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีระบบ การวิเคราะห์สถานการณ์การผลิต การตลาด การจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zonning)และการประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจ จากภัยธรรมชาติ รวมถึงสามารถนำข้อมูลรายแปลงที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรมาเป็นกรอบพื้นที่ตัวอย่างในการสำรวจข้อมูลด้านการเกษตร อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสนับสนุนสำหรับใช้ในการวางแผนและพัฒนาด้านการเกษตรอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย นายชวพฤฒ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--