นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาข้อมูลสับปะรด ถึงการประชุมเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ปัจจุบัน มีครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดประมาณ 39,000 ครัวเรือน พื้นที่เก็บเกี่ยว ประมาณ 5 แสนไร่ ผลผลิตเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศปีละประมาณ 23,000 – 25,000 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์การผลิตสับปะรดโรงงาน ปี 2557 สศก. คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตสับปะรดโรงงานออกสู่ตลาด ประมาณ 1.98 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4 เนื่องจากเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลงทุกภาค เพราะช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีมีอากาศเย็นยาวนานทำให้ต้นสับปะรดเสียหายโดยเฉพาะภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันตกได้รับผลกระทบจากปัญหาความแห้งแล้งทำให้ผลผลิตลดลง
สำหรับปริมาณผลผลิตในภาพรวมภาคกลางมีปริมาณผลผลิตมากที่สุดถึงร้อยละ 76และ ภาคเหนือ ร้อยละ 19ของปริมาณผลผลิตทั้งประเทศ ที่เหลืออยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมกัน ร้อยละ 5 โดย ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก 2 ช่วง คือ ช่วงแรกระหว่างเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน (ร้อยละ 23) ช่วงที่สอง ระหว่างเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม (ร้อยละ 20) ขณะที่ราคาสับปะรดโรงงานที่เกษตรกรขายได้ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ย 5 - 7 บาท/กก. โดยราคาต่ำสุดในเดือนมิถุนายน คือ 5.71 บาท/กก. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมากที่สุด และคาดว่าราคาจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีไปจนถึงปลายปีแม้จะเป็นช่วงที่ผลผลิตจะออกมามากอีกช่วงหนึ่งก็ตาม เนื่องจากยังมีความต้องการใช้สับปะรดของผู้ประกอบรองรับได้อยู่ อย่างไรก็ดี เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ โดยทุกฝ่ายร่วมกันส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ดี การใช้ปุ๋ยและสารเคมีอย่างเหมาะสม ลดจำนวนปีเก็บเกี่ยวโดยรื้อปลูกใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีสม่ำเสมอ บริหารจัดการด้านปริมาณผลผลิตกับความต้องการให้เกิดความสมดุล รวมทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรด จัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงานเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและลดความเสี่ยงด้านราคา
อย่างไรก็ตาม สับปะรดที่ปลูกใหม่ในภาคตะวันตก แม้ว่าจะได้รับฝนในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลผลิตจะออกไม่ทันปลายปี ประกอบกับปริมาณการซื้อสารบังคับทั้งแก๊สและสารอีทีฟอนที่เกษตรกรซื้อในช่วงนี้มีน้อย จึงบ่งชี้ถึงผลผลิตที่จะออกในช่วงปลายปีลดลง ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่า ผลจากราคาสับปะรดโรงงานตกต่ำ เกษตรกรจึงขายที่ดินที่เคยปลูกสับปะรดไว้เดิม ทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงไปด้วย ส่งผลต่อผลผลิตทั้งปีจะไม่เพิ่มขึ้น และเกษตรกรบางรายในจังหวัดตราด และฉะเชิงเทรา ได้หันไปปลูกสับปะรดผลสดพันธุ์ตราดสีทองแทน ดังนั้น สาเหตุเหล่านี้ ส่งผลทำให้ผลผลิตสับปะรดโรงงานลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามากอีกช่วงหนึ่งของปี ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะได้ติดตามสถานการณ์ ของผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนตุลาคม –ธันวาคม อย่างใกล้ชิด โดยจะเผยแพร่ข้อมูลอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--