ภาวะการลงทุนภาคการเกษตรของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 1, 2014 16:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลกและไทย

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการลงทุนโดยตรงของโลกซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 136,640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2530 เป็น 1,350,926 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2555 ทั้งนี้แนวโน้มการเข้ามาลงทุนโดยตรงของประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนทิศทางจากอดีตที่มุ่งเน้นไปที่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลักดังจะเห็นจากในปี 2530 ประมาณร้อยละ70 ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อในปี 2555 จะพบว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของโลกเริ่มหันเข้ามาสู่จีนและอาเซียนมากขึ้น โดยการเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 9.0 ในปี 2555 ขณะที่การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.2ในปี 2530 เป็นร้อยละ 8.2 ในปี 2555 (www.nesdb.go.th)

เมื่อพิจารณาสถานการณ์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสหภาพยุโรปพบว่าในปี พ.ศ. 2550-2555มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดอาจเห็นได้จากตารางที่ 1 จำนวนโครงการที่ขออนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนBOI เพิ่มขึ้นจาก 1,317 โครงการในปี 2550เป็น 2,582 โครงการในปี 2555ซึ่งยอดเงินการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 655,494 ล้านบาท ในปี 2550เป็น 1,476,622 ล้านบาท ในปี 2555 เมื่อพิจาณามูลค่าการลงทุนของโครงการต่างๆจะเห็นโครงการที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 100%ดังในตารางแสดงโครงการจากต่างประเทศที่เสนอต่อ BOI

ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศมาโดยตลอดที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายของไทยที่สนับสนุนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศอย่างเสรีจะเห็นได้ว่ามีมูลค่าการลงทุนของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2555 (ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศอย่างเสรีตั้งแต่เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2553)

นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี พ.ศ.2553ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้บริษัทไทยออกไปลงทุนโดยตรง ในต่างประเทศได้อย่างเสรีนั้น มูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2555 ที่การออกไปลงทุนในต่างประเทศของไทยมีมูลค่าสูงเป็นประวิติการถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯดังภาพรวมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศยังคงมีมูลค่าในระดับที่ยังต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น โดยเฉลี่ยของการลงทุนโดยตรงในประเทศของไทยระหว่างปี พ.ศ.2550 – 2555 มีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศสุทธิของไทยกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)อยู่ที่ ร้อยละ 1.9 ในขณะที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ มีสัดส่วน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.9 6.4 และ2.5 ตามลำดับ ดังภาพแสดงสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศสุทธิ กับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

เมื่อพิจารณาการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ในสาขาการเกษตร (การเกษตร, ป่าไม้, ประมง, อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม) พบว่ามูลค่าการลงทุนสาขาการเกษตรของไทยในสหภาพยุโรป มีมูลค่าลดลงจาก 85.02 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2548 เป็น 0.10 ล้านบาทในปี พ.ศ.2555 และในส่วนของอาเซียนการลงทุนในสาขาเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นจาก6,821.66 ล้านบาทในปี พ.ศ.2548 เป็น 17,010.23ล้านบาทในปี พ.ศ.2555

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมการลงทุน

การวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติผ่าน BOI ในวงเงิน51,526.5 ล้านบาทจะส่งผลกระทบทางตรง(direct effect) ทำให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้งการผลิตและการบริการเกิดการขยายตัว เช่น การผลิตเบเกอรรี่ การผลิตยานยนต์ การผลิตไฟฟ้า เป็นต้น การส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI จะยังส่งผลกระทบทางอ้อม(indirect effect) ต่อการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในวงกว้างผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้า (forward linkages) และการเชื่อมโยงไปข้างหลัง (backward linkages) ของภาคเศรษฐกิจหลักต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงดังกล่าว พบว่ามูลค่าผลผลิตทุกๆ หนึ่งบาทที่เพิ่มขึ้นในภาคการไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการส่งเสริมการลงทุนสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆรวมทั้งสิ้นถึง 13.582 บาทโดยมาจากการสร้างมูลค่าผลผลิตและบริการผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังเท่ากับ 11.418 และ 2.165 บาท ตามลำดับ

มูลค่าการผลิตทุกๆ หนึ่งบาทที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตยานยนต์จากการส่งเสริมการลงทุนสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆรวมทั้งสิ้น 6.093 บาทโดยมาจากการสร้างมูลค่าผลผลิตผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังเท่ากับ 2.573 และ 3.520 บาท ตามลำดับเงินทุกๆ หนึ่งบาทที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตแก้วและกระจกการขนส่งทางทะเลการผลิตผ้า และการผลิตเบเกอรี่และขนมปัง จากการส่งเสริมการลงทุนสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตและบริการผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆได้ใกล้เคียงกัน ประมาณ 4 บาท โดยการเชื่อมโยงไปข้างหลังกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีบทบาทมากกว่าการเชื่อมโยงไปข้างหน้ากับภาคเศรษฐกิจอื่นๆและ เงินทุกๆ หนึ่งบาทที่เพิ่มขึ้นในภาคเศรษฐกิจต่างๆ จากการส่งเสริมการลงทุนจะส่งผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อภาคการเกษตร โดยภาคที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรจากการส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ได้แก่ ภาคการผลิตเบเกอรี่และขนมปัง และการไฟฟ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตร

เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบของการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งหมด 29 ภาคผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทางศูนย์พยากรณ์ฯ พบว่า ภาคการเกษตร 5 อันดับแรกที่ควรพิจารณาให้การส่งเสริมเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ การทำไร่พืชตระกูลถั่วการบริการทางการเกษตร การทำนา การเลี้ยงสุกร และการทำไร่มันสำปะหลัง เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ค่อนข้างสูง โดยเงินทุกๆ หนึ่งบาทที่เพิ่มขึ้นในภาคเหล่านี้ จากการส่งเสริมการลงทุนจะสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตและบริการผ่านการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและการเชื่อมโยงไปข้างหลังกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆได้ ประมาณ 4.484 - 5.431 บาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ