1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1) ปีการผลิต 2556/57
มาตรการแก้ไขปัญหา
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57
ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 18 สิงหาคม 2557)
- จำนวนสัญญา 1,825,388 สัญญา
- จำนวนตัน 11,650,754 ตัน
- จำนวนเงิน 191,580.705 ล้านบาท
2) ปีการผลิต 2557/58
มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้
2.1) มาตรการหลัก
- ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท
2.2) มาตรการสนับสนุน
(1) มาตรการเร่งด่วน
(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
- ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร
(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่
- เร่งหาตลาดใหม่
- เชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ
- ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
- สินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)
(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่
- โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557
(2) มาตรการระยะยาว
(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่
- การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
- การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว
- กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
- จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน
(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม
- การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57
- การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ
ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพราะเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเริ่มเข้าสู่ต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ส่งผลให้ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาด
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,034 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,946 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.63
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,415 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,406 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.11
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,900 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.85
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,090 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,519 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,186 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,737 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 3,218 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 623 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,729 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 623 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,823 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 94 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,156 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,223 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 67 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,396 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,459 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.46 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,251 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้น
จากตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,318 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 67 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.6685 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามกำลังตกอยู่ในสภาวะลำบากที่จะเข้าร่วมการประมูลขาย ข้าวขาว 25% จำนวน 500,000 ตัน ให้แก่ฟิลิปปินส์ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากปัจจุบันข้าวในประเทศขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น
รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ส่งออกข้าวของเวียดนาม (Vinafood 1 และ Vinafood 2) ที่ได้ยืนยันการเข้าร่วมการประมูลขายข้าวให้แก่องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Food Authority) ไปแล้ว ระบุกับสื่อท้องถิ่นว่า Vinafood 1 และ Vinafood 2 ได้ตระหนักถึงการขาดทุนจากการขายข้าวในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเสนอราคาขั้นสูง (ceiling price) แล้วก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากทางรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง มีความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อข้าวในราคาที่สูงจากตลาดท้องถิ่น ด้านผู้ส่งออก คาดหวังให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวเสนอราคาขายที่ราคาขั้นสูง หรือตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 14,884 บาท) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเวียดนามจะเสนอราคาขั้นสูงในการประมูลขายข้าวแล้วก็ตาม ผู้ส่งออกจะต้องรับภาระขาดทุนตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 317 บาท)
ความต้องการข้าวของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกซื้อข้าวจากตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดหาข้าวให้ได้ตามสัญญาส่งออก โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ในปี 2557 เวียดนามทำสัญญาส่งออกข้าวไปแล้ว 5.3 ล้านตัน และ ณ วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวไปแล้ว 3.79 ล้านตัน ทั้งนี้ เวียดนามวางแผนที่จะทำสัญญาส่งออกข้าวเพิ่มอีก 1 ล้านตัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ 6.2 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่า เวียดนามจะต้องซื้อข้าวจากตลาดท้องถิ่นเพิ่มอีก 2.5 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ราคาตลาดในปัจจุบันไม่สูงจนเกินไป ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 9.2 – 9.3 ดองเวียดนาม หรือประมาณตันละ 438 – 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,871 – 14,029 บาท) ต่ำกว่าราคาขั้นสูง หรือตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณตันละ 24 – 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 760 – 1,013 บาท) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ส่งออกยังสามารถมีกำไร และราคาอาจจะต่ำกว่านี้ในกรณีข้าวขาว 25% ที่ฟิลิปปินส์ต้องการซื้อ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกยังคงมีความวิตกกังวลถึงแม้ว่าราคาจะลดลงในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ราคาในหลายจังหวัดของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน
ล่าสุด กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) อยู่ระหว่างดำเนินการวางแผนเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 260,000 เฮคตาร์ (หรือประมาณ 1.625 ล้านไร่) ไปปลูกพืชชนิดอื่นภายในปี 2558 ภายใต้แผนโครงการเปลี่ยนการปลูกพืชปี 2557 – 2563 (Crop Transformation Plan 2014 - 2020)
ภายใต้แผนดังกล่าว กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทจะเปลี่ยนรูปแบบการปลูกในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta: MRD) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ จากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นการปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นรวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย สำหรับพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง (Red River Delta) พื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือ และพื้นที่ภาคกลางตอนบนของประเทศ จะเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกจากการปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่น อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง งา ถั่วลิสง และผัก ในพื้นที่ภาคกลางตอนใต้ของประเทศ และพื้นที่ราบสูงทางตอนกลางของประเทศ จะเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวเป็นข้าวโพดและพืชชนิดอื่น และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จะเปลี่ยนการเพาะปลูกจากข้าวเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ และผักปลอดสารพิษ โดยกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทกล่าวว่า การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวเป็นการปรับสมดุลระหว่างการปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นที่มีความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าสูงกว่าข้าว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ปัจจุบัน เวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าว 7.78 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 48.625 ล้านไร่)
ที่มา Oryza.com
อินเดีย
รัฐบาลอินเดีย ประมาณการว่า ในปีการตลาด 2556/57 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) อินเดียผลิตข้าวได้ 106.54 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 104.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับการประมาณการของปี 2555/56 โดยจำแนกเป็นข้าวในช่วงฤดูฝน (Kharif หรือช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม) 91.69 ล้านตัน ลดลงจาก 92.76 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับการประมาณการของปีที่ผ่านมา และเป็นข้าวในช่วงฤดูหนาว (Rabi หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม) 14.58 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจาก 11.64 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับการประมาณการของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของกระทรวงเกษตร ระบุว่า ในปี 2555/56 อินเดียผลิตข้าวได้ 105.24 ล้านตัน (จำแนกเป็นข้าวในช่วงฤดูฝน 92.37 ล้านตัน และข้าวฤดูหนาว 12.87 ล้านตัน) ลดลงเล็กน้อยจาก 105.31 ล้านตัน (จำแนกเป็นข้าวในช่วงฤดูฝน 92.75 ล้านตัน และข้าวฤดูหนาว 12.56 ล้านตัน) เมื่อเทียบกับปี 2554/55 แหล่งข่าวด้านการค้าระบุว่า ผลผลิตในปีการตลาด 2557/58 มีมากพอที่รัฐบาลจะไม่ห้ามการส่งออกในปีถัดไป แต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อินเดียคาดการณ์ว่าผลผลิตในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำเนื่องจากฤดูมรสุมที่มาล่าช้า แต่ปัจจุบันฤดูมรสุมกลับสู่สภาพปกติในหลายๆ พื้นที่ของประเทศ และคาดการณ์ว่าผลผลิตในปีถัดไปจะใกล้เคียงกับปีปกติ
อินเดียกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2555 และ 2556 ภายหลังที่รัฐบาลยกเลิกการห้ามการส่งออกข้าวเป็นเวลา 4 ปี สำหรับข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ในปี 2557 สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งอินเดีย (All India Rice Exporters Association) รายงานว่า ในปี 2556/57 อินเดียส่งออกข้าวประมาณ 10.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 10.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2555/56
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) อินเดียผลิตข้าว 105 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยจาก 105.24 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2555/56 และในปี 2557 ส่งออกข้าว 10 ล้านตัน ลดลงจาก 10.87 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2556 และคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในปี 2557/58 อินเดียผลิตข้าว 103 ล้านตัน ส่งออก 8.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3 และร้อยละ 15 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2556/57
ที่มา Oryza.com
เมียนมาร์
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 (กรกฎาคม 2557 – มิถุนายน 2558) เมียนมาร์ส่งออกข้าว 560,000 ตัน ใกล้เคียงกับการส่งออกของปีที่ผ่านมา และส่งออกธัญพืชรวม 1.2 ล้านตัน ทั้งนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในปี 2557 เมียนมาร์ผลิตข้าว 29.5 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 18.9 ล้านตันข้าวสาร) เพิ่มขึ้นจาก 28.77 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 18 ล้านตันข้าวสาร) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต
ราคาขายส่งข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาขายส่งข้าวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในราคาตันละ 388,450 จ๊าด (หรือประมาณตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 12,667 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 (มกราคม – ธันวาคม 2557) เมียนมาร์ผลิตข้าว 18.63 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 12 ล้านตันข้าวสาร) และส่งออก 1.3 ล้านตัน
ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18 - 24 ส.ค. 2557--