ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 22, 2014 16:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) ปีการผลิต 2556/57

มาตรการแก้ไขปัญหา

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556–15 กันยายน 2557)

  • จำนวนสัญญา 1,825,407 สัญญา
  • จำนวนตัน 11,650,849 ตัน
  • จำนวนเงิน 191,582.289 ล้านบาท

2) ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

2.1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2.2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่

  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่

  • เร่งหาตลาดใหม่
  • เชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
  • สินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่

  • โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่

  • การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
  • การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว
  • การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์
  • กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
  • จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

  • การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

  • การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพ และตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยและคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร เพราะในบางพื้นที่มีน้ำท่วม เกษตรกรต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้ข้าวมีความชื้นสูง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,099 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,068 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.22

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,911 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,945 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.38

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,570 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,450 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.96

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,577 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,084 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,537 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 40 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 579 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,537 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 588 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,734 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 197 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,863 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,764 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 99 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,126 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,031 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 95 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,767 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,764 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.0153 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2557/58 ประจำเดือนกันยายน 2557 ว่าจะมีผลผลิต 476.982 ล้านตันข้าวสาร (722.7 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 476.061 ล้านตันข้าวสาร (721.3 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19 จากปี 2556/57

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2557/58 ณ เดือนกันยายน 2557 ว่าผลผลิต ปี 2557/58 จะมี 476.982 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2556/57 ร้อยละ 0.19 การใช้ในประเทศจะมี 481.825 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.21 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.185 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.16 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 105.125 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.40

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กานา อิหร่าน อิรัก เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

2.2 สถานการณ์ของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557/58 (เมษายน 2557 – มีนาคม 2558) อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติไปยังอิหร่านและอิรักลดลงกว่าครึ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศได้

ในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติไปยังอิรัก 65,960 ตัน ลดลงจาก 124,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผู้ส่งออกข้าวอินเดียระบุว่า ปัญหาการจลาจลที่เกิดขึ้นในอิรักเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อิรักชะลอการนำเข้าข้าว ในส่วนของอิหร่าน ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557/58 อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติไปยังอิหร่าน 330,000 ตัน ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เนื่องจากมาตรการด้านคุณภาพที่เข้มงวดและภาษีนำเข้าที่เพิ่มจากร้อยละ 22 เป็นร้อยละ 40

ล่าสุด ผู้ส่งออกข้าวอินเดียอยู่ระหว่างเจรจากับทางอิหร่าน เพื่อผ่อนปรนมาตรการด้านคุณภาพ โดยที่ผ่านมา อิหร่านได้ปรับระดับการเจือปนสารหนูในข้าวบาสมาติที่ยอมรับได้จาก 80 ppb เป็น 120 ppb นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวอินเดีย (All India Rice Exporters Association: AIREA) ให้ความเห็นกับสื่อท้องถิ่นว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ อินเดียจะไม่สามารถส่งออกได้เท่ากับปริมาณส่งออกของปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 3.8 ล้านตัน

ขณะที่ ในปีนี้ อินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าวบาสมาติฤดูมรสุม (มิถุนายน – ธันวาคม) 3.5 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 21.88 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 15.63 ล้านไร่) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรคาดว่าจะได้ผลตอบแทนดีจากการปลูกข้าวบาสมาติ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรอินเดียคาดการณ์ผลผลิตข้าวบาสมาติปี 2557/58 ประมาณ 8.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.25 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ผู้ส่งออกข้าวมีความกังวลว่า หากอินเดียส่งออกข้าวบาสมาติได้น้อย จะทำให้อุปทานในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาลดลง ผู้ส่งออกบางรายคาดการณ์ว่า ราคาข้าวบาสมาติมีแนวโน้มลดลงเหลือกิโลกรัมละ 90 – 100 รูปี (หรือประมาณตันละ 1,472 – 1,635 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 47,126 – 52,345 บาท) หรือลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติการเกษตรฟิลิปปินส์ (Philippines Bureau of Agricultural Economics) เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 ราคาข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยราคาขายปลีกข้าวสารคุณภาพดี (well-milled rice: WMR) ราคาขายปลีกข้าวสารคุณภาพธรรมดา (regular-milled rice: RMR) และราคาขายส่งข้าวสารคุณภาพดี เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคมที่ผ่านมา ราคาขายปลีกข้าวสารคุณภาพดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 41.76 เปโซ เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 35.79 เปโซ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ขณะที่ ราคาขายส่งข้าวสารคุณภาพดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.27 เปโซ เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 33.44 เปโซ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับข้าวสารคุณภาพธรรมดา ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ราคาขายปลีกข้าวสารคุณภาพธรรมดาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.53 เปโซ เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 32.58 เปโซ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารคุณภาพธรรมดา เฉลี่ยกิโลกรัมละ 36.49 เปโซ เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 30.45 เปโซ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556

ในรูปของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคมที่ผ่านมา ราคาขายปลีกข้าวคุณภาพดีเฉลี่ยตันละ 946 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 30,286 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ราคาขายส่งข้าวคุณภาพดีเฉลี่ยตันละ 890 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 28,494 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราคาขายปลีกข้าวคุณภาพธรรมดา เฉลี่ยตันละ 873 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 27,949 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และราคาขายส่งข้าวคุณภาพธรรมดาเฉลี่ยตันละ 827 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 26,477 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

เกาหลีใต้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกาหลีใต้จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตราร้อยละ 513 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 หลังจากการเปิดตลาดข้าวเสรี โดยกระทรวงเกษตรฯ ระบุกับสื่อว่า อัตราภาษีดังกล่าวเป็นอัตราภาษีนำเข้าสำหรับข้าวที่นำเข้าเกินกว่าปริมาณการนำเข้าขั้นต่ำ (minimum market access: MMA) ซึ่งกำหนดไว้ที่ 409,000 ตัน ตามข้อบังคับขององค์การการค้าโลก และกำหนดอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5 สำหรับการนำเข้าข้าวภายใต้ปริมาณการนำเข้าขั้นต่ำ

แหล่งข่าวของกระทรวงกล่าวว่า รัฐบาลมีกำหนดที่จะใช้อัตราภาษีสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก เพื่อปกป้องภาคการผลิตข้าวและเกษตรกรในประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องแจ้งองค์การการค้าโลกอย่างเป็นทางการให้ทราบถึงการตัดสินใจในการเปิดตลาดเสรีข้าวและอัตราภาษีภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งองค์การการค้าโลกมีกำหนดจะเริ่มพิจารณาอัตราภาษีในเดือนตุลาคม

รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังจะสิ้นสุดข้อตกลงเรื่องโควตานำเข้าข้าวกับองค์การการค้าโลกที่ใช้มาเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยตามข้อตกลงดังกล่าว ในปี 2536 เกาหลีใต้อนุญาตให้นำเข้าข้าวร้อยละ 4 ของปริมาณการบริโภคข้าวในแต่ละปี เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งภายหลังได้รับการต่ออายุข้อตกลงเพิ่มอีก 10 ปี และได้สิ้นสุดในปี 2547 กำหนดให้เกาหลีใต้นำเข้าข้าวร้อยละ 7.96 ของปริมาณการบริโภคข้าวในแต่ละปี ปัจจุบัน เกาหลีใต้ต้องนำเข้าข้าวประมาณ 409,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของปริมาณการบริโภค ภายใต้ปริมาณการนำเข้าขั้นต่ำ คิดอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5 ทั้งนี้ การเปิดตลาดเสรีข้าวในครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลที่จะปกป้องภาคการผลิตในประเทศโดยการลดปริมาณนำเข้าข้าว

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้สามารถปรับอัตราภาษีการนำเข้าข้าวกับประเทศอื่นได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 (พฤศจิกายน 2556 – ตุลาคม 2557) เกาหลีใต้ผลิตข้าวประมาณ 4.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 และลดลงเหลือ 4.15 ล้านตัน ในปี 2557/58 และคาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 และ 2557/58 เกาหลีใต้นำเข้าข้าว 410,000 ตัน ลดลงจาก 510,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2555/56

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 15 - 21 ก.ย. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ