ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 1, 2014 14:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) ปีการผลิต 2556/57

มาตรการแก้ไขปัญหา

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556–22 กันยายน 2557)

  • จำนวนสัญญา 1,825,407 สัญญา
  • จำนวนตัน 11,650,849 ตัน
  • จำนวนเงิน 191,582.289 ล้านบาท

2) ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

2.1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2.2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่

  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่

  • เร่งหาตลาดใหม่
  • เชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
  • สินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่

  • โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่

  • การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
  • การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว
  • การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์
  • กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
  • จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

  • การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

  • การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพ ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตฤดูนาปีเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ประกอบกับผู้ประกอบการส่งออกบางรายต้องการข้าวเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้า

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,126 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,099 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.19

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,157 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,911 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.10

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,050 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 12,570 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 3.82

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,079 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,528 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,080 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,560 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 32 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,496 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 579 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,528 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 32 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,144 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 433 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,856 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 9 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,472 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,120 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.68 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 352 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,048 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,760 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.09 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 288 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.9998 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2557/58 ประจำเดือนกันยายน 2557 ว่าจะมีผลผลิต 476.982 ล้านตันข้าวสาร (722.7 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 476.061 ล้านตันข้าวสาร (721.3 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19 จากปี 2556/57

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2557/58 ณ เดือนกันยายน 2557 ว่าผลผลิต ปี 2557/58 จะมี 476.982 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2556/57 ร้อยละ 0.19 การใช้ในประเทศจะมี 481.825 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.21 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.185 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.16 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 105.125 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4.40

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล และอินเดีย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียู กานา อิหร่าน อิรัก เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

2.2 สถานการณ์ของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ในปี 2552 อินเดียส่งออกข้าวไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LCDs) คิดเป็นมูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 57,600 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 2,496 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 23 เท่า เมื่อเทียบกับ ปี 2552 โดยส่วนใหญ่แล้ว อินเดียส่งออกข้าวไปยังบังคลาเทศ เบนิน ไลบีเรีย เซเนกัล เนปาล เยเมน และแอฟริกาใต้สะฮารา (sun-saharan africa)

ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดมีการขยายตัวจากการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการแข่งขันด้านราคา โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เบนินนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้น เนื่องจากการนำเข้าข้าวอย่างผิดกฎหมายของไนจีเรียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวเป็นร้อยละ 110 จึงทำให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าข้าวอย่างผิดกฎหมายส่งข้าวไปยังเบนิน ที่มีอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 10 แล้วถึงส่งข้าวไปยังไนจีเรียตามแนวชายแดน สำหรับเซเนกัล มีการนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดส่วนใหญ่ที่นำเข้าข้าวจากอินเดียได้รับผลกระทบจากการสั่งระงับห้ามส่งออกข้าวของอินเดียเพื่อควบคุมราคาในประเทศ การห้ามส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออก

จะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น การห้ามการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกหลักหลายประเทศ รวมทั้งอินเดีย ในปี 2550 ส่งผลให้ราคาข้าวโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2550 และ 2551

ทั้งนี้ ในปี 2556 อินเดียส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด คิดเป็นมูลค่า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.250 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 0.160 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2550 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 314 ในช่วงปี 2552-2556

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (กรกฎาคม 2557 – มิถุนายน 2558) เมียนมาร์ส่งออกข้าวประมาณ 700,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 เมียนมาร์ส่งออกธัญพืชทั้งหมด 1.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.24 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ด้านการผลิต องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในปี 2557 เมียนมาร์ผลิตข้าว 29.5 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 18.9 ล้านตันข้าวสาร) เพิ่มขึ้นจาก 28.77 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 18 ล้านตันข้าวสาร) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากมีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกเล็กน้อย ทั้งนี้ การปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน (เมษายน – กลางเดือนธันวาคม) ได้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ราคาขายส่งข้าว ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เริ่มลดลงในช่วงเดือนสิงหาคม โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคาขายส่งข้าวตันละ 384,460 จ๊าด (หรือประมาณตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 12,800 บาท) ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ประมาณร้อยละ 1 แต่เพิ่มขึ้นจากตันละ 382,730 จ๊าด (หรือประมาณตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 12,480 บาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในปี 2555/56 เมียนมาร์ส่งออกข้าว 1.33 ล้านตัน แต่ลดลงเหลือ 1 ล้านตัน ในปี 2556/57 โดยในปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้เกิน 1 ล้านตัน ขณะที่ ผู้ส่งออกข้าวต้องการที่จะส่งออกข้าวให้ได้ประมาณ 1.5 – 2 ล้านตัน เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากจีน แอฟริกา และสหภาพยุโรป

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 (มกราคม – ธันวาคม 2557) เมียนมาร์ผลิตข้าว 18.63 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 12 ล้านตัน) และส่งออกข้าวประมาณ 1.3 ล้านตันข้าวสาร

ที่มา Oryza.com

ไนจีเรีย

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรม (Bank of Industries) ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและ

การพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development) สนับสนุนเงินทุนจำนวน 13 ไนร่า (หรือประมาณ 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,528 ล้านบาท) เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตในประเทศ

ผู้จัดการกรรมการและประธานผู้บริหารธนาคารเพื่ออุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เงินสนับสนุนดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างโรงสีจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ และสนับสนุนเงินกู้ระยะเวลา 5 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี ให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างโรงสีขนาดเล็กในการแปรรูปข้าว นอกจากนี้ ธนาคารยังอนุญาตให้มีการพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือนอีกด้วย

เงินทุนดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิ (net importer) และนำเข้าข้าวประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณบริโภคข้าวในประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวและห้ามการส่งออกภายในปี 2558

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวเป็นอัตราร้อยละ 110 เพื่อลดการนำเข้าข้าว แต่ส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าข้าวมากขึ้น ซึ่งภายหลังรัฐบาลได้ลดภาษีนำเข้าลงเหลือร้อยละ 60 โดยปัจจุบัน รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการหาวิธีอื่น เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 (ตุลาคม 2556 – กันยายน 2557) ไนจีเรียผลิตข้าว 2.77 ล้านตัน และนำเข้าข้าวประมาณ 3 ล้านตัน และคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 ไนจีเรียผลิตข้าวลดลงเหลือ 2.55 ล้านตัน และนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านตัน ในปี 2558

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 - 28 ก.ย. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ