ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2014 16:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
1) ปีการผลิต 2556/57

มาตรการแก้ไขปัญหา

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556–26 ตุลาคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 1,825,533 สัญญา
  • จำนวนตัน 11,652,116 ตัน
  • จำนวนเงิน 191,603.048 ล้านบาท
2) ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

2.1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2.2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่

  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่

  • เร่งหาตลาดใหม่
  • เชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
  • สินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่

  • โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่

  • การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
  • การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว
  • การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์
  • กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
  • จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

  • การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

  • การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้า

หอมมะลิ และข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้า

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,250 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,148 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.72

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,001 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,991 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,525 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.60

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,056 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,020 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,078 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,601 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 581 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 574 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,492 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,552 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ0.697 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 60 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,660 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,674 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 14 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 406 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,080 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 408 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,096 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 16 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,563 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 429 ดอลลาร์ สหรัฐฯ (13,770 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.86 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 207 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.2162 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-23 ตุลาคม 2557 มีจำนวน 249,411 ตัน มูลค่า 110.656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.14 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ส่งออกได้ 222,410 ตัน มูลค่า 94.192 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) สำหรับการส่งออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 ตุลาคม 2557 มีจำนวน 5.037 ล้านตัน มูลค่า 2.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณลดลงร้อยละ 7.05 และมูลค่าลดลงร้อยละ 6.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ส่งออกได้ 5.419 ล้านตัน มูลค่า 2.326 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

ในระหว่างการประชุมด้านอุตสาหกรรมข้าวที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายและเศรษฐกิจของเวียดนาม (the Director of the Vietnam Center for Economic and Policy Research; VEPR) ได้เรียกร้องให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเพาะปลูกข้าวคุณภาพต่ำและปานกลาง ไปเป็นการเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูงเพื่อ การส่งออก โดยในปัจจุบันนี้เกษตรกรเวียดนามเพาะปลูกข้าวคุณภาพต่ำคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของข้าวทั้งหมด ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเวียดนามในระยะยาว โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งอินเดีย เมียนมาร์ และกัมพูชา ต่างเร่งผลิตข้าวคุณภาพต่ำและปานกลางออกสู่ตลาด ทำให้เวียดนามต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงจากประเทศเหล่านี้ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง พร้อมทั้งได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎระเบียบที่ช่วย ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยรัฐบาลควรออกกฎระเบียบที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ ที่ต้องการข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งจะต้องมีการสร้างตราสินค้า และภาพลักษณ์ของข้าวเวียดนามให้ตลาดรับรู้ด้วย

Oryza.com

เมียนมาร์

วงการค้าคาดว่า จากการที่ทางการจีนได้สั่งห้ามนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ผ่านทางชายแดนเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกข้าวจากเมียนมาร์ไปยังจีนทางแนวชายแดนลดลงเหลือประมาณวันละ 25 ตัน จากเดิมที่มีการส่งออกประมาณวันละ 3,500 ตัน ซึ่งคาดว่าการห้ามนำเข้าข้าวของจีนในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณส่งออกข้าวโดยรวมของประเทศ รวมถึงราคาข้าวในประเทศด้วย

ปัจจุบัน เมียนมาร์ส่งออกข้าวประมาณเดือนละ 50,000 ตัน ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ส่งออกได้ประมาณ 100,000 ตัน ขณะเดียวกันราคาข้าวขายส่งในประเทศก็ลดลงประมาณร้อยละ 8 จากเดิมที่ราคาอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ราคา ณ เดือนกรกฎาคม) ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะผู้ส่งออกข้าวลังเลที่จะซื้อข้าว จากเกษตรกร ในขณะที่ยังคงมีสต็อกข้าวถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือนร้อนมาก โดยผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรโดยการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนสำหรับการเพาะปลูกข้าวในฤดูถัดไปได้

ที่มา Oryza.com

กัมพูชา

กัมพูชาจะจัดการประชุมข้าวครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2557 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมประชาสัมพันธ์ข้าวของประเทศต่อผู้ซื้อทั้งในท้องถิ่นและต่างประเทศ หลังจากรัฐบาลได้ตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันภายในปี 2558

ประธานสมาคมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางของกัมพูชาที่เป็นผู้จัดงานระบุว่า ได้เชิญผู้ซื้อที่มีศักยภาพจากจีน สิงคโปร์ ไนจีเรีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อิรัก แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ อิตาลี โปแลนด์ เยอรมนีอินเดีย และพม่า เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมข้าวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการผลิตและตลาดข้าว ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้วยกัน ทั้งนี้ ข้าวหอมของกัมพูชาได้รับความนิยมเนื่องจากรสชาติอร่อย และยังได้รับรางวัลข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อนจากการประกวดรสชาติข้าวระดับโลกที่จัดขึ้นที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2555 และที่ฮ่องกงเมื่อปี 2556

ปี 2556 กัมพูชาผลิตข้าวเปลือกได้ 9.4 ล้านตัน ในจำนวนดังกล่าว กัมพูชามีข้าวสำหรับส่งออกในปีนี้ มากกว่า 3 ล้านตัน และจากข้อมูลของทางการระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 กัมพูชาส่งออกข้าวไปแล้ว 69,370 ตัน เพิ่มขึ้นเพียงแค่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 57 ประเทศทั่วโลก โดยมีฝรั่งเศส โปแลนด์ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด และจีน เป็นผู้ซื้อข้าวหลักของประเทศ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์

ฟิลิปปินส์

สำนักงานสถิติการเกษตร (the Philippines Bureau of Statistics; PBS) คาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ฟิลิปปินส์จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 3.02 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากพายุไต้ฝุ่นรามสูร (Glenda typhoon) พัดผ่าน ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายไปบางส่วน

ทางด้านกระทรวงเกษตร (The Philippines Depart of Agriculture; DA) คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 19.65 ล้านตันข้าวเปลือก โดยในครึ่งปีแรกมีผลผลิตข้าวประมาณ 8.38 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

กระทรวงเกษตร (The Indian Agriculture Ministry) รายงานว่า การเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิตหลัก หรือ kharif rice crop (เพาะปลูกเดือนมิถุนายน-ธันวาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวเดือนตุลาคมเป็นต้นไป) ได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่ง ณ วันที่ 24 ตุลาคม มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 238.62 ล้านไร่ ลดลงประมาณร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การเพาะปลูกข้าวในฤดูนี้ปรับตัวดีขึ้นในช่วงท้ายของฤดู แม้ว่าในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกจะล่าช้า เพราะเกิดภาวะฝนตกล่าช้ากว่ากำหนดในเขตพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญหลายแห่ง

รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า ในฤดูการผลิตหลัก หรือ kharif crop (มิถุนายน-ธันวาคม) ของปีการผลิต 2557/58 จะมีผลผลิตประมาณ 88.02 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนฤดูการผลิตรอง หรือ rabi crop (พฤศจิกายน-มีนาคม) จะมีผลผลิตประมาณ 13 ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลจะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์ใหม่ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ฤดูเพาะปลูก kharif crop สิ้นสุดลงแล้ว

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการผลิต 2557/58 (ตุลาคม-กันยายน) อินเดียจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 102 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4 จากผลผลิตในปี 2556/57 ที่คาดว่าจะมีประมาณ 106.29 ล้านตัน เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูมรสุมเมื่อเดือนมิถุนายน-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูเพาะปลูกในพื้นที่สำคัญ

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 ต.ค.- 2 พ.ย. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ