สศก. มั่นใจ ไทยพร้อมรับมือหลังสหภาพยุโรปตัดสิทธิ์ GSP มกราคม ศกหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 27, 2014 13:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ไทยมีช่องทางที่จะส่งสินค้าโดยยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี แม้สหภาพยุโรประงับสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 58 เป็นต้นไป เผย ครึ่งปีแรก 57 ไทยยังได้เปรียบดุลการค้า สินค้าส่งออกสำคัญคือ อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ของปรุงแต่งจากผักผลไม้ และเครื่องปรุงรส

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เชิญ สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเขตการค้าเสรี ครั้งที่ 2/2557 เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางในการใช้ประโยชน์จากระเบียบภายในของสหภาพยุโรป ภายหลังการถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ของประเทศไทย เพื่อเป็นการหาช่องทางใหม่ในการส่งสินค้าไปสหภาพยุโรป เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะได้รับจากการถูกตัดสิทธิ GSP

ในเรื่องดังกล่าว ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะถูกสหภาพยุโรประงับสิทธิ GSPทั้งหมดทุกรายการสินค้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป แต่ไทยยังมีช่องทางที่จะส่งสินค้าโดยยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีต่อไป โดยสหภาพยุโรปมีระเบียบภายในเพื่อพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยมีการผ่อนปรนเป็นการชั่วคราวสำหรับการนำเข้าสินค้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต หรือเป็นสินค้าขั้นกลาง หรือเป็นส่วนประกอบที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อเนื่อง โดยจะยกเว้นภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ขาดแคลน หรือกำหนดโควต้าสำหรับการนำเข้าสินค้าที่มีไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมภายในของสหภาพยุโรป ไม่ใช่สินค้าขั้นสุดท้ายที่ขายตรงให้กับผู้บริโภค และไม่ใช่สินค้าที่นำเข้าไปเพื่อการซื้อขาย โดยการยื่นคำร้องสำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ต้องให้ผู้นำเข้าเป็นผู้ยื่นคำร้องผ่าน Central Office ของแต่ละประเทศสมาชิกฯ ให้ Economic Tariff Question Group (ETQG) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก EU Commission เป็นหน่วยงานในการพิจารณา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรไทย (ไม่รวมยางพารา) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 กับกลุ่มสหภาพยุโรป พบว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้า 51,137 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556) โดยไทยมีมูลค่าส่งออก 84,873 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.26 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556) ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญคือ อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ของปรุงแต่งจากผักผลไม้ เครื่องปรุงรส และมีมูลค่านำเข้า 33,736 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.83 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556) ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญคือ นมและผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม สำหรับช่องทางใหม่ในการส่งสินค้าไปสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการนั้น ท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากสำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ และ website europa.eu

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ