1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
ปีการผลิต 2557/58
— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58
มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้
1) มาตรการหลัก
- ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท
2) มาตรการสนับสนุน
(1) มาตรการเร่งด่วน
(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร
(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)
(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557
(2) มาตรการระยะยาว
(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน
(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57 และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ
— มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก
ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผลการดำเนินงาน ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 57
1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.)
- ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.706 ล้านครอบครัว 61.270 ล้านไร่
2) ธ.ก.ส.
- กสก. ตรวจสอบและส่งให้ ธ.ก.ส. 3.568 ล้านครอบครัว 38.769 ล้านไร่ - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ 0.361 ล้านครอบครัว 3.297 ล้านไร่
เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.
- ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร 3.207 ล้านครอบครัว 35,470.066 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และมีบางพื้นที่กระทบแล้งทำให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลง
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,480 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,653 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.49
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,856 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,860 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.05
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,417 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,350 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.54
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 949 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,978 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 945 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,874 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 104 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,998 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,459 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.00 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 539 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,644 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,591 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,024 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,937 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 87 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,644 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,591 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.6423 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาล (G to G) ในปี 2558 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรงกับประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ เช่น ไทย และอินเดีย
ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทอาหารภาคใต้ (Vinafood 2) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจส่งออกข้าว เปิดเผยว่า โดยปกติแล้วเวียดนามส่งออกข้าวแบบ G to G ไปยังจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และคาดการณ์ว่าความต้องการข้าวของประเทศดังกล่าวในปีหน้ามีประมาณ 2.5 ล้านตัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเซ็นสัญญานำเข้าข้าวกับผู้ส่งออกของเวียดนาม นอกจากนี้ยังระบุว่า เป้าหมายการส่งออกในปีหน้าของเวียดนามคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากความไม่แน่นอนของตลาดจีน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามพึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป และในปี 2558 จีนตกลงที่จะซื้อข้าว 2 ล้านตัน จากไทย และ 1 ล้านตัน จากเมียนมาร์
เจ้าหน้าที่ของ Vinafood 2 ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเวียดนามยังมีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีความต้องการนำเข้าข้าวปีละ 14 ล้านตัน ไม่มากนัก โดยเวียดนามมีบทบาทน้อยมากในตลาดแอฟริกาตะวันออก เช่น กานา และไอวอรี่โคสต์ เนื่องจากความหลากหลายของชนิดข้าวในตลาดข้าวขาว ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลง
ในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกหลักลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,730 บาท) ลดลงจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 14,199 บาท) หรือลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน เช่นเดียวกับราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยลดลงเหลือตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,383 บาท) หรือลดลงร้อยละ 2.4 ราคาข้าวขาว 5% ของอินเดียลดลงเหลือตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,730 บาท) หรือลดลงร้อยละ 6 และราคาข้าวขาว 5% ของปากีสถานลดลงเหลือตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 12,241 บาท) หรือลดลงร้อยละ 6.25 องค์การอาหารแห่งเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่า ในปี 2557 เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าว 6.5 ล้านตัน ซึ่งในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 18 ธันวาคม 2557 เวียดนามส่งออกข้าวแล้ว 5.961 ล้านตัน ทั้งนี้ ในปี 2556 เวียดนามส่งออกข้าว 6.71 ล้านตัน
ที่มา Oryza.com
เมียนมาร์
ผู้ช่วยเลขานุการสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation: MRF) คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2557/58 (เมษายน 2557 – มีนาคม 2558) เมียนมาร์ส่งออกข้าว 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 8 เดือนแรก (เมษายน – พฤศจิกายน 2557) เมียนมาร์ส่งออกข้าว 799,600 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 455,800 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
การส่งออกข้าวของประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ชะลอตัว เนื่องจากทางการจีนสั่งห้ามการนำเข้าผ่านชายแดนทางตอนเหนือของเมียนมาร์ ซึ่งถึงแม้ว่าการส่งออกข้าวดังกล่าว
จะถูกต้องตามกฎหมายของเมียนมาร์ แต่ทางการจีนระบุว่าการนำเข้าข้าวผ่านชายแดนทางตอนเหนือของเมียนมาร์ผิดกฎหมาย เนื่องจากจีนและเมียนมาร์ไม่มีข้อตกลงการส่งออกและนำเข้าข้าวระหว่างกันอย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา ทางการเมียนมาร์เปิดการเจรจากับจีนเพื่อจัดทำข้อตกลงด้านการค้าระหว่างกัน โดยระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการจีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำเข้าข้าวจากเมียนมาร์ปริมาณ 1 ล้านตัน ผ่านการค้าชายแดนในปี 2558
ด้านผู้ช่วยเลขานุการ MRF เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทางการจีนเริ่มผ่อนปรนการนำเข้าข้าวผ่านการค้าชายแดนของเมียนมาร์ภายหลังการเจรจาดังกล่าว และคาดหวังว่าเมียนมาร์จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยในเดือนธันวาคม เมียนมาร์คาดการณ์ว่าจะส่งออกข้าวอย่างเป็นทางการไปยังจีนทั้งหมด 200,000 ตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวที่ส่งออกผ่านการค้าชายแดน จำนวน 100,000 ตัน
ผู้ช่วยเลขานุการ MRF กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า การส่งออกข้าวไปยังยุโรปและแอฟริกาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาร์อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อขยายตลาดส่งออกข้าว ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายส่งออกข้าวให้ได้ 3 ล้านตัน ภายใน 2-3 ปี และให้ความสำคัญกับข้าวเป็นลำดับแรก ในยุทธศาสตร์ส่งออกของประเทศ (National Export Strategy) ซึ่งจะเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2558
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (มกราคม – ธันวาคม 2558) เมียนมาร์ผลิตข้าว 18.98 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 12.15 ล้านตันข้าวสาร และส่งออกข้าวประมาณ 1.4 ล้านตัน
ที่มา Oryza.com
กัมพูชา
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเปิดเผยว่า ปัญหาศักยภาพการสีข้าวและการขาดแคลนด้านเงินทุนเป็นอุปสรรคต่อกัมพูชาในการบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2558 โดยด้วยระดับการส่งออกในปัจจุบัน กัมพูชาไม่สามารถส่งออกข้าวให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2553 ทั้งนี้ นายกฯ ระบุเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกัมพูชาล้มเหลวในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสีข้าว โดยศักยภาพของอุตสาหกรรมสีข้าวในปัจจุบันต่ำกว่าศักยภาพการผลิต และรัฐบาลไม่กล้าที่จะจัดซื้อข้าวเพิ่มเติมจากเกษตรกรเพื่อการส่งออก เนื่องจากขาดแคลนสถานที่จัดเก็บ ซึ่งทำให้กัมพูชาต้องสูญเสียคำสั่งซื้อข้าวในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรถูกบังคับให้ขายข้าวให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่ลักลอบขายข้าวตามชายแดน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสภาพัฒนาแห่งกัมพูชา (Council Development for Cambodia: CDC) พบว่า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมสีข้าวจำนวนมากอยู่ระหว่างการดำเนินการ และหากเสร็จสิ้นแล้วจะช่วยให้กัมพูชาเพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าวได้
ด้านประธานสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (Cambodia Rice Federation: CRF) เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของนายกฯ เกี่ยวกับเป้าหมายการส่งออก และระบุว่า สหพันธ์ฯ พยายามที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ และอยู่ระหว่างพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมในการจัดซื้อและสต็อกข้าวเป็นจำนวนมาก เพื่อไม่ให้การจัดหาข้าวสำหรับการส่งออกขาดช่วง นอกจากนี้สหพันธ์ฯ พยายามที่จะเปิดตลาดส่งออกใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าวของประเทศ
ล่าสุดกัมพูชาจัดตั้งธนาคารข้าวเปลือก (Paddy Rice Bank) เพื่อจัดหาข้าวให้แก่โรงสีและผู้ส่งออก นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้ความช่วยเหลือด้านการเงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 9,793 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการยกระดับระบบพื้นฐานของอุตสาหกรรมข้าว อาทิ โกดังข้าว และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (Secretariat One Window Service: SOWS-REF) ภายใต้กระทรวงการค้า (Ministry of Trade) เปิดเผยว่า ใน 11 เดือนแรกของปี 2557 กัมพูชาส่งออกข้าว 335,925 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 332,009 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 - 28 ธ.ค. 2557--