นายสมชาย ครามานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 15 ปทุมธานี (สศข.15) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการแจ้งเตือนเกษตรกรที่ทำการเกษตรในฤดูแล้งช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนในเขตจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีให้ระวังน้ำเค็มเอ่อเข้าทำลายพืชผลการเกษตร เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์เมื่อสิ้นเดือนมกราคมมีประมาณ 5,100 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งมีปริมาณน้อย สืบเนื่องจากกรมชลประทานหยุดปล่อยน้ำทำนาปรังและไม่มีน้ำปล่อยไล่น้ำเค็ม ทำให้น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเคลื่อนขึ้นมาสูงถึงจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีโดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแถมอำเภอบางกรวย บางบัวทองและไทรน้อย ส่วนจังหวัดปทุมธานีในแถบอำเภอเมืองและอำเภอลาดหลุมแก้ว
ดังนั้น เกษตรกรควรระวังน้ำเค็มด้วยการทำคันกั้นน้ำไม่ให้น้ำจากแม่น้ำเข้าสู่แปลงโดยตรง พร้อมทั้งติดตามข่าวและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทุกวันซึ่งสามารถติดตามข่าวได้จากศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน โดยหากมีความจำเป็นต้องผันน้ำจากแม่น้ำลำคลองเข้าสู่แปลงผัก สวนไม้ผล สวนกล้วยไม้และนาข้าว ก็ควรตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำในลำคลองให้มีค่าความเค็มของน้ำไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็น
อย่างไรก็ตาม ในการปลูกพืชผักขอแนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชผักโดยเฉพาะพืชผักที่มีการยกร่องแปลงปลูก ควรปลูกในบริเวณที่ต่ำกว่าบริเวณสันร่อง เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วเกลือจะเคลื่อนที่สะสมในพื้นที่สูงเมื่อมีการระเหยน้ำและควรเลือกปลูกชนิดพืชผักที่เหมาะสมกับระดับความเค็มในดินที่เพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ดินเค็มน้อย ควรปลูกถั่วฝักยาว คื่นฉ่าย แตงร้าน และแตงไทย เป็นต้น ในพื้นที่ดินเค็มปานกลาง ควรปลูก บวบ พริก ถั่วลันเตา หอมใหญ่ข้าวโพดหวาน และผักกาดหอม เป็นต้น ส่วนพื้นที่ดินเค็มมาก แนะนำให้ปลูกผักกาดหัว มะเขือเทศ ถั่วพุ่ม ชะอมคะน้า ผักบุ้งจีน และกระเพรา ทั้งนี้ สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต 15 โทร. 0 2520 3720-1 ในวันและเวลาราชการ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--