ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2015 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ผลการดำเนินงาน ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2558

1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.)

  • ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.711 ล้านครอบครัว 61.309 ล้านไร่

2) ธ.ก.ส.

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.           3.599 ล้านครอบครัว  39.104 ล้านไร่
          - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ              0.081 ล้านครอบครัว   0.674 ล้านไร่

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร                   3.518 ล้านครอบครัว  38,429.032 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ส่งผลให้ข้าวมีคุณภาพ ไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับยังคงมีปริมาณข้าวอยู่ในสต็อกของรัฐเป็นจำนวนมาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,587 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,598 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.09

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,885 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,895 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 988 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,965 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 984 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,884 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 81 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 689 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,291 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 655 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,224 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.66 และสูงขึ้น ในรูปเงินบาทตันละ 1,067 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,653 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,609 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 แต่ลดลง ในรูปเงินบาทตันละ 44 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 401 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,973 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,961 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 แต่ลดลง ในรูปเงินบาทตันละ 12 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,847 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,836 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.91 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 11 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3528 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2557/58 ประจำเดือนมกราคม 2558 ว่าจะมีผลผลิต 475.467 ล้านตันข้าวสาร (708.9 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 476.960 ล้านตันข้าวสาร (711.2 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 0.31 จากปี 2556/57

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2557/58 ณ เดือนมกราคม 2558 ว่าผลผลิต ปี 2557/58 จะมี 475.467 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2556/57 ร้อยละ 0.31 การใช้ในประเทศจะมี 483.330 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.66 การส่งออก/นำเข้าจะมี 42.557 ล้านตันข้าวสาร เท่ากับปีที่ผ่านมา และสต็อกปลายปีคงเหลือ 99.000 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.36

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กัมพูชา จีน ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล อิยิปต์ กายานา และอินเดีย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไอเวอรี่โคสต์ กานา อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อียู ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และอินโดนีเซีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ฟิลิปปินส์วางแผนที่จะนำเข้าข้าว จำนวน 500,000 ตัน มีกำหนดส่งมอบภายในเดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อเพิ่มปริมาณสต๊อกในช่วงฤดูข้าวขาดแคลนที่จะมาถึง (ช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม) โดยองค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Food Authority: NFA) ระบุว่า รัฐบาลวางแผนจะนำเข้าข้าวผ่านการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) ทั้งหมด 200,000 ตัน จำนวน 2 ครั้ง แบ่งเป็นครั้งละ 100,000 ตัน

ทั้งนี้ ในปี 2557 ที่ผ่านมา องค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวมากกว่า 1.8 ล้านตัน เพื่อทดแทนข้าวในสต๊อกและควบคุมการปรับขึ้นของราคา ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชน 187,000 ตัน ที่อัตราภาษีร้อยละ 35 ภายใต้การนำเข้าขั้นต่ำของรัฐบาล (Minimum Access Volume: MAV)

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2558 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 1.60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.45 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2557 นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (กรกฎาคม 2557 – มิถุนายน 2558) ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลิตข้าวประมาณ 19.36 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 12.2 ล้านตันข้าวสาร) เพิ่มขึ้นจาก 18.82 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 11.86 ล้านตันข้าวสาร) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีการตลาด 2556/57

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

ประธานบริหาร หรือ CEO ของสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation: MRF) ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาร์มีแผนจะส่งออกข้าวประมาณ 2.5 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2558/59 (เมษายน 2558 – มีนาคม 2559) เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการของปีงบประมาณ 2557/58 ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ในปี 2556/57 เมียนมาร์ส่งออกข้าวประมาณ 1.2 ล้านตัน

สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกำลังพยายามเพิ่มการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแอฟริกา ควบคู่ไปกับการส่งออกไปจีน โดยผู้ส่งออกมีกำหนดที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งในปี 2558/59 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา เมียนมาร์ส่งออกข้าวนึ่งประมาณ 914,969 ตัน คิดเป็นมูลค่า 343 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 11,097 ล้านบาท) ปัจจุบัน รัฐบาลเมียนมาร์และสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์อยู่ระหว่างเจรจากับทางการจีนเพื่อขออนุญาตส่งออกข้าวไปยังจีนอย่างถูกกฎหมาย โดยจะเริ่มในเดือนเมษายน 2558

ปัจจุบัน มีบริษัทส่งออกที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าวไปยังจีนประมาณ 9 บริษัท นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทตรวจสอบและรับรองระบบของจีน (The China Certification & Inspection Group: CCIC) มีกำหนดจะเปิดสำนักงานในกรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองมูเซ เพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนส่งออกไปยังจีน โดยในปี 2558 จีนได้สั่งซื้อข้าวไปแล้วจำนวน 2 ล้านตัน และกระบวนการตรวจสอบคุณภาพจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนมกราคมนี้

รัฐบาลเมียนมาร์พยายามที่จะเพิ่มการส่งออกข้าวให้ได้ 3 ล้านตัน ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยประกาศให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ข้าวเพื่อการส่งออกแห่งชาติ (National Export Strategy)

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (มกราคม 2558 – ธันวาคม 2558) เมียนมาร์ผลิตข้าว 18.98 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 12.15 ล้านตันข้าวสาร) และส่งออกข้าวประมาณ 1.4 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

เซเนกัล

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม – พฤศจิกายน) เซเนกัลนำเข้าข้าวประมาณ 871,100 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 821,300 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2557 เซเนกัลนำเข้าข้าวประมาณ 81,200 ตัน ลดลงจาก 84,100 ตัน หรือลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2557

ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว โดยนำเข้าข้าวถึงร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ในประเทศ รัฐบาลของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกรวมทั้งรัฐบาลเซเนกัล พยายามที่จะกระตุ้นการผลิตในประเทศและลดปริมาณการนำเข้า ปัจจุบัน เซเนกัลนำเข้าข้าวจากอินเดีย ไทย และเวียดนาม

ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกอินเดีย (India’s Export Import Bank: Exim Bank) ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่รัฐบาลเซเนกัลประมาณ 269.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 8,715 ล้านบาท) ในรูปแบบของตราสารเครดิต (Letter of Credit: LoC) เพื่อกระตุ้นการส่งออกและการพัฒนาประเทศ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) เซเนกัลผลิตข้าวประมาณ 289,000 ตัน และนำเข้าข้าวประมาณ 1.15 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศประมาณ 1.45 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 26 ม.ค. - 1 ก.พ. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ