นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตาม มาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/58 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ตามมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เบิกจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา และกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยจะช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท หรือได้สูงสุดรายละ 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557
ในเรื่องดังกล่าว สศก.ได้ดำเนินการติดตามประเมินผลมาตรการชดเชยรายได้ โดยได้ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสัมภาษณ์เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2557/58 รวม 833 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ราชบุรี ชลบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เพชรบุรี สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช
ผลการประเมินการชดเชยรายได้ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 98 ได้รับเงินแล้ว ส่วนร้อยละ 2 ยังไม่ได้รับเงิน เนื่องจาก มีการแก้ไขเอกสาร เช่น มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองที่ดิน เกษตรกรเปลี่ยนนามสกุล เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยเฉลี่ย 13,860 บาท/ราย โดยได้รับสูงสุด 15,000 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 67 และได้รับต่ำสุด 1,500 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15 เกษตรกรทั้งนี้ เกษตรกรนำเงินชดเชยไปใช้จ่าย โดยเก็บไว้ลงทุนทำนาในครั้งต่อไป ร้อยละ 49 ใช้เพื่ออุปโภค/บริโภค ร้อยละ 38 ใช้จ่ายค่าหนี้สินที่เป็นปัจจัยการผลิตข้าวที่ค้างจ่ายร้อยละ 10 ใช้หนี้ผู้ให้กู้ยืมร้อยละ 8 ใช้หนี้ ธ.ก.ส. ร้อยละ 4 และอื่นๆ ร้อยละ 10 ได้แก่ เก็บออม ลงทุนทำการเกษตรประเภทอื่น เป็นต้น
ด้านความพึงพอใจภาพรวมของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรร้อยละ 55 พึงพอใจมาก ร้อยละ 36 พึงพอใจปานกลาง และร้อยละ 9 พึงพอใจน้อย เนื่องจาก เงินที่ชดเชยมีจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งต้องการให้จ่ายเงินชดเชยตามจำนวนพื้นที่ที่ทำนาทั้งหมด หรือ ชดเชย 2 ใน 3 ของพื้นที่ทำนา หรือ ชดเชยขั้นต่ำ 30 ไร่ เป็นต้น และควรเพิ่มเงินชดเชย เป็น 2,000 – 3,000 บาทต่อไร่ และเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์เฉพาะผู้ทำนาพื้นที่น้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ เกษตรกรทุกรายรับทราบถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวเนื่องจากมีการแจ้งและประชาสัมพันธ์ทั้งจาก เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ผู้นำชุมชน และทางสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ โดยเห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรงจึงควรดำเนินการต่อในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือคิดเป็นร้อยละ 5 เนื่องจาก ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน การเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดิน และพื้นที่ปลูกข้าวน้อย เป็นต้น เลขาธิการ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--