1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
ปีการผลิต 2557/58
— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58
มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร
ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้
1) มาตรการหลัก
- ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท
2) มาตรการสนับสนุน
(1) มาตรการเร่งด่วน
(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร
(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศ และต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)
(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557
(2) มาตรการระยะยาว
(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน
(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57 และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ
— มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผลการดำเนินงาน
1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558
- ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.712 ล้านครอบครัว 61.338 ล้านไร่ - ผ่านการติดประกาศ/ตรวจสอบพื้นที่ 3.625 ล้านครอบครัว 59.617 ล้านไร่
2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558
- กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.
- อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ 3.603 ล้านครอบครัว 39.157 ล้านไร่ เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส. 0.050 ล้านครอบครัว 0.408 ล้านไร่ - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร 3.553 ล้านครอบครัว 38,748.132 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ และข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาสูงขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตลดลงเพราะไม่อยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ประกอบกับตลาดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,256 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,226 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.23
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,884 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,878 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.08
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,250 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3505 บาท
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2557/58 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ว่าจะมีผลผลิต 474.556 ล้านตันข้าวสาร (707.5 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 477.080 ล้านตันข้าวสาร (711.4 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 0.53 จากปี 2556/57
2) การค้าข้าวโลก
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2557/58 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ว่าผลผลิต ปี 2557/58 จะมี 474.556 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2556/57 ร้อยละ 0.53 การใช้ในประเทศจะมี 483.132 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.55 การส่งออก/นำเข้าจะมี 42.237 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.59 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 98.216 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 8.03
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา กัมพูชา จีน ปากีสถาน ปารากวัย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล อิยิปต์ อินเดีย และอุรุกวัย
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา กานา อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น เม็กซิโก โมแซมบิค ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ คาเมรูน อียู ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
เวียดนาม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบแผนสำรองข้าวในช่วงฤดูหนาว – ฤดูใบไม้ผลิ
เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว โดยปกติแล้ว เกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวใน
ฤดูหนาว – ฤดูใบไม้ผลิช่วงเดือนกุมภาพันธ์และจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากแหล่งข่าวจากรัฐบาลระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของเวียดนามมีแผนที่จะทบทวนการดำเนินมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้าวที่รัฐบาลวางแผนที่จะสำรองไว้ ยังไม่เป็นที่เปิดเผย
ปัจจุบัน ราคาส่งออกข้าว 25% ของเวียดนาม อยู่ที่ตันละ 330 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 10,676 บาท) ลดลงจาก 355 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 11,484 บาท) หรือลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาส่งออกลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการข้าวจากประเทศผู้นำเข้าลดลง
สมาคมอาหารแห่งเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) รายงานว่า เมื่อปี 2557 เวียดนามส่งออกข้าว 6.316 ล้านตัน ลดลงจาก 6.71 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปี 2556
ที่มา Oryza.com
อินเดีย
รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 (เมษายน 2557 – มีนาคม 2558) อินเดียส่งออกข้าวรวมประมาณ 10.1 ล้านตัน ลดลงจาก 10.9 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2556/57 โดยปริมาณส่งออกข้าวรวมลดลง เนื่องจากอินเดียส่งออกข้าวบาสมาติได้น้อยลง
รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 ส่งออกข้าวบาสมาติประมาณ 3.3 ล้านตัน ลดลงจาก 3.7 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2556/57 เนื่องจากอิหร่านสั่งห้ามนำเข้าข้าวชั่วคราว ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญรายหนึ่งของอินเดีย โดยในปี 2556/57 อินเดียส่งออกข้าวไปยังอิหร่านประมาณ 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณการส่งออกข้าวบาสมาติทั้งหมดของอินเดีย สำหรับปี 2558/59 ผู้อำนวยการสมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งอินเดีย (All India Rice Exporters Association: AIREA) คาดการณ์ว่า อินเดียจะส่งออกข้าวบาสมาติไปยังอิหร่านประมาณ 800,000 – 1,000,000 ตัน เนื่องจากปัจจุบันอิหร่านมีสต๊อกข้าวจำนวนมาก
ข้อมูลจากองค์การพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารแปรรูป (Agricultural & Processed Food Products Export Development Authority: APEDA) ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557/58 (เมษายน 2557 – ตุลาคม 2558) อินเดียส่งออกข้าวประมาณ 6.12 ล้านตัน (ซึ่งจำแนกเป็นข้าวบาสมาติ 1.62 ล้านตัน และข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ 4.5 ล้านตัน) ลดลงจาก 6.3 ล้านตัน (ซึ่งจำแนกเป็นข้าวบาสมาติ 1.8 ล้านตัน และข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ 4.5 ล้านตัน) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556/57
ด้านการผลิต รัฐบาลคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 อินเดียผลิตข้าวประมาณ 105 ล้านตัน ลดลงจาก 106.5 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2558 อินเดียส่งออกข้าว 8.7 ล้านตัน ลดลงจาก 10.15 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2557
ที่มา Oryza.com
กัมพูชา
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการเกษตรแห่งกัมพูชา (Center for Study and Development in Agriculture: CEDAC) ตั้งเป้าขยายการส่งออกข้าวหอมเพิ่มเป็น 1,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจาก 540 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557
ปัจจุบัน CEDAC ส่งออกข้าวหอมอินทรีย์ไปยังสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง นอกจากนี้ ยังพยายามขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาหรับอีกด้วย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการส่งออกข้าวอินทรีย์ระบุว่า ราคาส่งออกข้าวอินทรีย์ในตลาดต่างประเทศสูงกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่าราคาส่งออกข้าวสารธรรมดาที่มีความผันผวนสูง ดังนั้นทางศูนย์ฯ พยายามกระตุ้นให้รัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์เพิ่มเติม
CEDAC รับซื้อข้าวอินทรีย์จากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 1,650 เรียล (หรือประมาณตันละ 407 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 13,1667 บาท) ขณะที่รับซื้อข้าวที่ไม่ใช่ข้าวอินทรีย์ในราคากิโลกรัมละ 1,150 เรียล (หรือประมาณตันละ 271 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 8,767 บาท)
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกเอกชนวางเป้าหมายการส่งออกข้าวหอมอินทรีย์ไว้ที่ 1,500 ตัน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ตัน ในปี 2559 และเพิ่มเป็น 4,000 ตัน ในปี 2560 โดยผู้บริหารบริษัทเอกชนระบุกับสื่อท้องถิ่นว่า ทางบริษัทได้จัดทำข้อตกลงกับสหกรณ์การเกษตรในการรับซื้อข้าวอินทรีย์เพื่อการส่งออก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในแง่ของการเพิ่มรายได้
ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกข้าวอินทรีย์ในปัจจุบันยังมีอัตราส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด แต่ทางบริษัทเอกชนมีความมั่นใจว่าจะสามารถขยายอัตราส่วนส่งออกข้าวอินทรีย์ได้ หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาอาวุโสของสหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (Cambodia Rice Federation: CRF) ให้ข้อคิดเห็นว่า กระบวนการผลิตข้าวอินทรีย์มีหลายขั้นตอนและมีความยุ่งยาก ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรไม่สนใจผลิต ดังนั้นรัฐบาลควรมุ่งเน้นการผลิตข้าวสำหรับตลาดระดับบน (high end market) และสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์
ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 - 22 ก.พ. 2558--