1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
ปีการผลิต 2557/58
— มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58
มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้
1) มาตรการหลัก
- ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท
2) มาตรการสนับสนุน
(1) มาตรการเร่งด่วน
(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร
(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศ และต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอ การขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)
(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557
(2) มาตรการระยะยาว
(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) และการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน
(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว
ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57 และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ
— มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก
ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผลการดำเนินงาน
1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558
- ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.714 ล้านครอบครัว 61.380 ล้านไร่
2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558
- กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. 3.603 ล้านครอบครัว 39.157 ล้านไร่ - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ 0.045 ล้านครอบครัว 0.354 ล้านไร่
เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.
- ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร 3.558 ล้านครอบครัว 38,801.787 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีผลผลิตจึงมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับยังคงมีข้าวอยู่ในสต๊อกของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,312 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,256 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.42
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,876 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,884 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.30
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,250 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 958 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,946 บาท/ตัน)
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 674 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,772 บาท/ตัน)
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,438 บาท/ตัน)
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,792 บาท/ตัน)
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,632 บาท/ตัน)
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.3030 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สปป.ลาว
รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศผ่านเว็บไซต์ของทางรัฐบาลว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างวางแผนพัฒนามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (sanitary and photosanitary measures: SPS) เพื่อกระตุ้นการส่งออกข้าว ซึ่ง ปัจจุบัน สปป.ลาว เป็นประเทศที่ผลิตข้าวได้ใกล้เคียงกับความต้องการใช้ในประเทศ มีการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ได้แก่ เวียดนาม ไทย และจีน รวมประมาณ 300,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาล สปป.ลาว พยายามที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกด้วยวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 70 ต่อปี ผลิตข้าวให้ได้ 4.2 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 2.65 ล้านตันข้าวสาร) ภายในปี 2558
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาล สปป.ลาว จึงพยายามที่จะเสริมสร้างให้ผู้ผลิตและโรงสีเกิดความตระหนักในด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรกรรมและป่าไม้ (Ministry of Agriculture and Forestry) จัดการประชุมเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความต้องการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของประเทศคู่ค้า
ล่าสุด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรรมและป่าไม้ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ลงนามในข้อตกลงด้านการผลิตสินค้าเกษตรกับประเทศไทย เวียดนาม และจีน ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าว สปป.ลาว ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านความปลอดภัยอาหารและมาตรการสุขอนามัยพืช นอกจากนี้ยังระบุว่า รัฐบาลได้ทำสัญญาส่งออกข้าวกับจีน ซึ่งทางการจีนแสดงความต้องการให้ สปป.ลาว ปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับระเบียบความปลอดภัยด้านชีวภาพ สุขอนามัย และสุขอนามัยพืช ซึ่งเน้นการจัดการศัตรูพืช กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง เป็นต้น โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจีนมีความต้องการซื้อข้าวเหนียวจาก สปป.ลาว เป็นจำนวนมากอีกด้วย
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (มกราคม – ธันวาคม 2558) สปป.ลาว ผลิตข้าวประมาณ 1.55 ล้านตันข้าวสาร (หรือประมาณ 2.46 ล้านตันข้าวเปลือก) และนำเข้าข้าวประมาณ 10,000 ตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่ 1.58 ล้านตันข้าวสาร
ที่มา Oryza.com
สหรัฐอเมริกา
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนงานกับผู้ประกอบการท่าเรือชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ จำนวน 29 แห่ง มีแนวโน้มคลี่คลายลงด้วยการลงนามโดยสหภาพแรงงานในสัญญาว่าจ้างฉบับใหม่
ข่าวดังกล่าวนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ส่งออกข้าวในแคลิฟอร์เนียซึ่งแบกรับภาระจากการลำเลียงสินค้าที่ล่าช้าออกไปและตู้สินค้าที่ค้างอยู่ที่ท่าเรือในช่วงที่ผ่านมา โดยประธานและ CEO ของคณะกรรมการข้าวแคลิฟอร์เนีย (California Rice Commission) เปิดเผยว่า แคลิฟอร์เนียสูญเสียปริมาณการส่งออกข้าวเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการส่งออกยามปกติในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมที่ผ่านมา โดยร้อยละ 80 ของข้าวที่ปลูกในแคลิฟอร์เนียเป็นข้าวเมล็ดกลาง (medium-grain rice) และส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคแปซิฟิคตอนใต้ผ่านท่าเรือซาคราเมนโต้ตะวันตก และท่าเรือโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนียเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากรัฐอาร์คันซอ โดยผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณผลผลิตข้าวทั้งหมดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ แคลิฟอร์เนียยังมีแรงงานในภาคการผลิตข้าว ประมาณ 25,000 ราย ปี 2557 ภาคการผลิตข้าวของแคลิฟอร์เนียได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้พื้นที่ปลูกลดลงเหลือ 420,000 เฮคตาร์ (หรือประมาณ 2.625 ล้านไร่) ลดลงจาก 525,000 เฮคตาร์ (หรือประมาณ 3.281 ล้านไร่) หรือลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2556
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากราคาส่งออกข้าวเมล็ดกลางที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาส่งออกข้าวเมล็ดกลางของสหรัฐฯ อยู่ที่ตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 28,104 บาท) ลดลงจากตันละ 915 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 29,557 บาท) หรือลดลงร้อยละ 5
เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ที่มา Oryza.com
ไนจีเรีย
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรไนจีเรีย เปิดเผยว่า ในปี 2557 ไนจีเรียผลิตข้าวประมาณ 2.9 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยระบุเพิ่มเติมว่า “การปฏิวัติข้าว (rice revolution)” โดยรัฐบาลได้รับแรงสนับสนุนจากการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าข้าว ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเครื่องจักร ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกระตุ้นการผลิตข้าวทั้งในเกษตรกรรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ผ่านโครงการสนับสนุนการยกระดับการเติบโต (Growth Enhancement Support Scheme: GESS) ภายใต้วาระการปฏิรูปด้านการเกษตร (Agriculture Transformation Agenda: ATA) ปี 2554
ปัจจุบัน มีนักลงทุนภาคเอกชนหลายราย สนใจลงทุนในภาคการผลิตข้าวของไนจีเรีย ซึ่งบางรายได้ลงทุนไปแล้วในอุตสาหกรรมการสีข้าวที่บริเวณพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อกระตุ้นการผลิตและการสีข้าว นอกจากนี้ จำนวนโรงสีข้าวแบบเบ็ดเสร็จมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1 โรง ในปี 2554 เป็น 13 โรง ในปี 2558 และจำนวนโรงสีขนาดเล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 หรือเพิ่มเป็น 4,350 โรง ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากรวมปริมาณผลผลิตในปี 2557 กับสต็อกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไนจีเรียจะต้องนำเข้าข้าวประมาณ 1.9 – 2 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ 6 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำหนดเป้าหมายในการบรรลุการพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวและห้ามการนำเข้าตั้งแต่ปี 2558 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2557/58 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) ไนจีเรียผลิตข้าว 2.55 ล้านตันข้าวสาร และนำเข้า 3.5 ล้านตันข้าวสาร
ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 ก.พ. - 1 มี.ค. 2558--