เกษตรฯ รุกระบบโลจิสติกส์ ด้าน สศก. ลุยแผนยุทธศาสตร์ เจาะ 5 สินค้าในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 24, 2015 13:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ รุกนโยบายและขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ โดย สศก. กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2556-2559 เผยปี 58 เจาะลึกสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และหน่อไม้ฝรั่ง แบบครอบคลุมทั้ง 3 มิติ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ภาพรวมของประเทศ รวมทั้งยังไม่มีเกณฑ์ (Benchmark)การประเมินระดับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ครอบคลุมทั้งใน 3มิติ ได้แก่ มิติต้นทุน (Cost Management) มิติเวลา (Lead Time) และมิติความน่าเชื่อถือ (Reliability) ทำให้การวางแผนเพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการสินค้าที่ผ่านมา เน้นหนักไปที่การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการระบบโลจิสติกส์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเรื่องเวลาและความน่าเชื่อถือของสินค้าด้วย ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเน่าเสียง่าย น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 - 25 ของ GDP ประเทศ ซึ่งสูงกว่าต้นทุนโลจิสติกส์ภาพรวมของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14 ของ GDP (ปี 2556)

นอกจากนี้ ตลอดโซ่อุปทานกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยว การรวบรวม การบรรจุ การเคลื่อนย้ายหรือการขนส่งไปถึงมือผู้บริโภค มีการสูญเสียคุณภาพและปริมาณมากกว่าร้อยละ 30 ของผลผลิตทั้งหมดโดยพบว่า เกษตรกรเก็บเกี่ยวมูลค่าเศรษฐกิจในโซ่อุปทานของตนเองได้เพียงร้อยละ 25 เนื่องจากเกษตรกร ยังจำกัดบทบาทของตนเองในขั้นตอนการผลิตเพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 75 อยู่ในมือของผู้ประกอบการอื่น เช่น ผู้รวบรวม พ่อค้าขายส่ง/ขายปลีก โรงงานแปรรูป หรือผู้ส่งออก เนื่องจากให้ความสำคัญในเรื่องการวางแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้ง 3 มิติไปพร้อมกัน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของโซ่การผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมอบหมายให้ สศก. กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2556-2559โดยจะมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ตัวชี้วัดและเครื่องมือการประเมินประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) ซึ่งในปี 2558 จะเน้นสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และหน่อไม้ฝรั่ง ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของสมาชิกในระบบโซ่อุปทานสินค้าเกษตร (ได้แก่ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้รวบรวม โรงงานแปรรูป เป็นต้น) ในกิจกรรมโลจิสติกส์สำคัญ เช่น ในมิติต้นทุนและเวลาในการจัดการสินค้าทั้งการเก็บเกี่ยว รวบรวม คัดเกรด บรรจุหีบห่อ การแปรรูป ไปจนถึงการเคลื่อนย้าย และการจัดการคลังเก็บสินค้า รวมไปถึงการวางแผนความต้องการของลูกค้าล่วงหน้า และการส่งมอบผลผลิต ขณะที่ในมิติความน่าเชื่อถือ จะเป็นเรื่องของอัตราความสามารถในการจัดส่ง การส่งมอบสินค้า ครบตามจำนวนและตรงตามเวลา และอัตรามูลค่าความเสียหายของสินค้าที่เกิดความเสียหายก่อนส่งมอบให้ลูกค้า รวมทั้งอัตรามูลค่าการถูกตีกลับของสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ขณะนี้ได้ผ่านคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมินประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้าเกษตร จะทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีฐานข้อมูล สำหรับใช้ในการวางแผนเพื่อยกระดับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาตามกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในโซ่อุปทานที่ผลิตสินค้าเกษตร ครอบคลุมใน 3 มิติ คือ มิติต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ รวมถึงสมาชิกในโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร จะได้ทราบถึงประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ของตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงการประกอบการของตนเองเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ