นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกุลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2558 พบว่า หดตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยลบ ที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรหดตัวในไตรมาสนี้ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เห็นควรให้งดการปลูกข้าวนาปรังในปี 2557/58 จำนวน 7.77 ล้านไร่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองโดยเด็ดขาด และส่งเสริมให้ปลูกพืชไร่ พืชผักที่ใช้น้ำน้อยแทน สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เนื่องจากระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การดูแลและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี รวมถึงความต้องการบริโภคจากตลาดภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ส่วนการผลิตสาขาประมง สถานการณ์การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) คลี่คลายลง ส่งผลให้มีผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงน้ำจืด อาทิ ปลานิล และปลาดุก มีแนวโน้มลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรต้องงดการเลี้ยงปลาในบางพื้นที่ หรือชะลอการเลี้ยงออกไป โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า
สาขาพืช ในไตรมาส 1 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สำหรับพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และมังคุด)
สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด และปาล์มน้ำมัน
ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา และลำไย ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม 2558 สินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ลำไยและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลผลิตอ้อยของบราซิลเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ประกอบกับรัฐบาลอินเดียได้อนุมัติเงินอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายดิบในปี 2557/2558 เป็นจำนวน 1.4 ล้านตัน ในอัตรา 4,000 รูปี/ตัน (64 เหรียญสหรัฐฯ) ส่งผลให้อุปทานในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น และราคามีแนวโน้มลดลง
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากการผลิตปศุสัตว์ โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น
ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ พบว่า ปรับตัวลดลง โดยราคาไก่เนื้อ สุกร และไข่ไก่ เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 10.2 11.1 และ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนราคาน้ำนมดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพน้ำนมดิบดีขึ้น
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงเดือนมกราคม 2558 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปี 2557 โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น จากการส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น ภายหลังการยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกสดแช่แข็งจากไทย ซึ่งการส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 152.8 และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 186.8
สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากผลผลิตประมงทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของการเพาะเลี้ยงและการจับตามธรรมชาติ โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยมีปริมาณ 26,697 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีปริมาณ 23,649 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 เพราะปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) คลี่คลายลง ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่มีความมั่นใจมากขึ้น จึงขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ด้านราคา พบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2558 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 201 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 267 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 24.8 เนื่องจากผลผลิตกุ้งในแหล่งผลิตที่สำคัญเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลง จากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนบางแห่งไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังหรือปลูกข้าวนาปรังรอบสองได้ ทำให้การจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย
สาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส น้ำผึ้งธรรมชาติ ครั่ง และถ่านไม้ เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์จากป่าในเดือนมกราคม 2558 ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออก ได้แก่ น้ำผึ้ง และครั่ง โดยน้ำผึ้งขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 เท่าของเดือนมกราคม 2557 เนื่องจากตลาดหลัก เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ซาอุดิอาระเบีย และไต้หวัน มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกครั่งเม็ดก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 คาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.8) – (-0.8) โดยสาขาการผลิตที่หดตัวลง ได้แก่ สาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร ส่วนสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ลำไย มังคุด และเงาะ ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน ทำให้ปัญหาโรคตายด่วนคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงปี 2558 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--