จับตาการปฏิรูปโครงสร้าง ศก.จีน สศก. เผยบทวิเคราะห์ ผลกระทบไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2015 13:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย บทวิเคราะห์ผลกระทบปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนต่อภาคเกษตรไทย ระบุ ไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปจีน ซึ่งมีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับหนึ่งสัดส่วนร้อยละ 11ต่อปี แต่หากมองระยะยาวจะเกิดผลดีต่อประเทศไทยในฐานะคู่ค้าที่สำคัญ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจีนนับมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ประมาณ 1,400 ล้านคน อีกทั้งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดประเทศหนึ่ง ดังนั้น การบริโภคในประเทศจีน ไม่ว่าจะมาจากภาคครัวเรือนหรือภาคเอกชนจะเป็นตัวกระตุ้นความต้องการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากภายนอกประเทศเพื่อผลิตเป็นสินค้าและบริการตอบสนองต่อความต้องการของคนในประเทศหรือผลิตเพื่อการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า และนำเงินตราเข้าประเทศ

สำหรับในทศวรรษแรกหลังการเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) จีนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงมากอยู่ร้อยละ 10.40 ต่อปี ก่อนลดระดับความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลงมาอยู่ร้อยละ 7.4 ในปี 2557 นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนอาจลดลงไปถึงร้อยละ 6.8 ในปี 2558 และเหลือร้อยละ 6.3 ในปี 2559 ซึ่งสาเหตุอาจไม่ได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มรับรู้ได้ถึงผลกระทบแล้ว

การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนจะเน้นให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปยังกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียม ร่วมกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากความไม่สอดคล้องระหว่างโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวไม่มีความมั่นคง การเติบโตไม่ต่อเนื่อง ส่งผลต่อสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจภาคบริการ ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต และขยายธุรกิจภาคบริการลงสู่เขตชนบทเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น เป็นการกระจายรายได้และลดช่องว่างระหว่างชุมชนเมืองและชนบทลง อย่างไรก็ตาม การที่จีนหันกลับมาปฏิรูปโครงสร้างภายในประเทศ จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ลดการนำเข้าสินค้าบางส่วนที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม และหันกลับไปผลิตสินค้าตอบสนองต่อความต้องการในประเทศเองมากขึ้น

ดังนั้น ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้ เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปจีน ซึ่งมีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับหนึ่งและคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 11 ต่อปี ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด โดยในปี 2557 มูลค่าส่งออกรวมของไทยไปจีนเท่ากับ 806,438 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 2.21 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าส่งออกรวมในปี 2558 (ม.ค. – เม.ย.) เท่ากับ 241,896 ล้านบาท หดตัวลงต่อเนื่องร้อยละ 10.57

หากจำแนกการส่งออกเป็นสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และสินค้านอกการเกษตร พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าส่งออกหดตัวลงร้อยละ 4.43 ในปี 2557 และในปี 2558 (ม.ค. – เม.ย.) หดตัวรุนแรงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 20.26 ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้านอกการเกษตร พบว่า หดตัวลงร้อยละ 1.09 ในปี 2557 และในปี 2558 (ม.ค. – เม.ย.) หดตัวลงต่อเนื่องร้อยละ 5.04ถึงแม้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง แต่ดุลการค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ยังคงเกินดุลเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกสินค้านอกภาคเกษตรที่ขาดดุลเสมอ แสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปจีนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและลดการขาดดุลการค้าให้กับภาคส่งออกของไทยได้ ทั้งนี้ ปี 2558 (มกราคม - เมษายน) การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ไทยนั้น ยังเกินดุล 62,621 ล้านบาท

ในเรื่องดังกล่าว ผลกระทบของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนที่มีต่อภาคเกษตรไทย สะท้อนให้เห็นชัดในภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคการผลิตของจีน เช่น ยางธรรมชาติ แต่ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีน และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจีนมองว่าสินค้าเกษตรไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ถึงแม้บางช่วงอาจชะลอการบริโภคอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจจีนในขณะนั้น แต่คาดว่าเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และหากมองในระยะยาว การปฏิรูปของจีนจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและมีคุณภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศไทยในฐานะคู่ค้าที่สำคัญ

ดังนั้น ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีน ศึกษาความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมใหม่หลังปรับโครงสร้างการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าเกษตรและอาหารโดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป สร้างความภักดีในตราสินค้าเกษตรไทย (Brand loyalty) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน เข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนในทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการเกษตรด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องในระยะยาว พัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับจีนให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและพัฒนาตลาดทางเลือกสินค้าเกษตร เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรสีเขียว เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ