ไคลเมท เชนจ์ กระทบการผลิตภาคเกษตร สศก. เร่งศึกษาแนวทาง เน้นนวัตกรรมสู่การกำหนดนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 19, 2015 13:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่งผลต่อการผลิตภาคการเกษตรลดลงอย่างเด่นชัด เตรียมวางแนวทางรองรับผลกระทบ สู่มาตรการและนโยบาย พร้อมดึงนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ตอบสนองตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง สู่การปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวเศรษฐกิจความพอเพียง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการภายในและภายนอกหรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ หรือพื้นดินที่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนแปลงจะเห็นได้ชัด เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ กระแสลม ปริมาณฝน โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งอาจเป็นทศวรรษ (10 ปี) หรือยาวนานกว่านั้น นับเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำทั้งสิ้น ส่งผลให้พื้นที่สำหรับการผลิตพืชอาหารและผลผลิตภาคการเกษตรลดลง

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเตือนถึงราคาอาหารของโลก ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะลดลงและคาดการณ์ว่าราคาธัญพืชอาหารหลักของประชากรโลก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว มีแนวโน้มจะสูงขึ้นกว่า 1 ถึง 2 เท่าตัวภายในปี 2573 โดยมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยถึง 1/3 หรือครึ่งหนึ่ง และปัจจัยอื่นๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่มีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการอาหารของโลกเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่อุปทานลดลงส่งผลให้ราคาอาหารโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วย

ในเรื่องดังกล่าว สศก. จึงได้ศึกษาถึงแนวทางมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ที่สามารถทนทานหรือปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น การพัฒนานวัตกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ และระบบการผลิตสินค้าเกษตรกรรม ตลอดจนการปรับเปลี่ยนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ให้สามารถตอบสนองเป็นไปตามสภาวการณ์ที่มีเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างแบบจำลองบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมทุกมิติของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพคุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับการเกษตรแล้ว ยังมีปัญหาสินค้าเกษตร เช่น ราคายางพาราตกต่ำ ปัญหาข้าวราคาตกต่ำ เนื่องจากปริมาณการผลิตสินค้าทั้งสองชนิดในสต็อกแต่ละปีมีปริมาณสูงขึ้น กล่าวคือ ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรไม่สมดุลกับความต้องการของผู้บริโภค จึงประสบกับปัญหาราคานั่นเอง แต่ขณะเดียวกัน ระบบการผลิตสินค้าเกษตรหลายประเภท เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยังคงมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นกอปรกับตลาดยังมีความต้องการและสามารถขายได้ราคาที่ดีอยู่ด้วย

สศก. ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้เสนอแนวทาง มาตรการและนโยบาย เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการเกษตรในหลากหลายด้านทั้งด้านการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น การผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-plastic) จากมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ที่สามารถลดมลภาวะได้ อันเกิดจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก และความกดดันด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากนานาประเทศ รวมทั้งมาตรการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของผู้บริโภคและปริมาณการผลิต เพื่อให้ระดับราคามีเสถียรภาพ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรจากที่รัฐบาลมีมาตรการลดพื้นที่ปลูกข้าวและให้การปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่าทดแทน คือ อ้อยและพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย หรือการปรับเปลี่ยนการปลูกยางพาราที่มีปริมาณการผลิตเกินความต้องการ เป็นการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทน หรือการปลูกพืชแซมในสวนยางพารา เพื่อให้เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีต่อภาคการเกษตรต่างๆ ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ สศก. ได้เร่งรัดในพัฒนาและกำหนดนโยบายด้านการเกษตร รวมถึงการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อสนองตอบต่อเศรษฐกิจความพอเพียง อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคำนึงถึงความมั่นคงเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งสามารถเลี้ยงตนเองได้ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนอันนำมาซึ่งประโยชน์สุขของสังคมในประเทศต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ