ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ 7 บริษัท ได้แก่ (1) บมจ. กรุงเทพประกันภัย (2) บมจ. เจ้าพระยาประกันภัย (3) บมจ. ทิพยประกันภัย (4) บมจ. นวกิจประกันภัย (5) บมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์ (6) บมจ. ทูนประกันภัย และ (7) บมจ. วิริยะประกันภัย ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ภาคเอกชนเป็นผู้รับประกันภัยตลอดช่วงการเพาะปลูกสำหรับภัยธรรมชาติ 6 ประเภทดังกล่าว วงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ และสำหรับภัยศัตรูพืชและโรคระบาดวงเงินความคุ้มครอง 555บาทต่อไร่ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายการเอาประกันภัยทั่วประเทศเป็นจำนวน 1.5 ล้านไร่ ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ เริ่มขายกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม – 14 สิงหาคม 2558 สำหรับทุกภาค ยกเว้นภาคใต้สิ้นสุดการรับทำประกันภัยในวันที่ 11 ธันวาคม 2558ซึ่งปัจจุบันนี้โครงการยังมีการดำเนินการอยู่
สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้เอาประกันภัยธรรมชาติ สามารถวิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) 4 ส่วน ประกอบด้วย รัฐบาล ผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) บริษัทผู้รับประกันภัย และเกษตรกร พบว่า
รัฐบาล เป็นผู้อุดหนุนเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร โดยพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำที่สุด ช่วยเหลือ 4.07 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก ช่วยเหลือ 32.15 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำ ช่วยเหลือ 102.75 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงปานกลาง ช่วยเหลือ 144.40 ล้านบาท และพื้นที่เสี่ยงสูง ช่วยเหลือ 180.62 ล้านบาท รวมเงินช่วยเหลือ 463.97 ล้านบาท ส่วนผู้บริหารโครงการฯ (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลโดยขอชดเชยเงินจากรัฐบาลในส่วนของเงินอุดหนุนเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่จ่ายจริง วงเงินไม่เกิน 268.01 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ FDR+1% ซึ่งคำนวณในเบื้องต้น ธ.ก.ส. จะได้รับค่าชดเชยดอกเบี้ยจากโครงการฯ จำนวน 5.75 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทผู้รับประกันภัยหรือบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ จ่ายสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จากการประมาณการเบี้ยประกันภัยที่ผู้ประกันได้รับทั้งสิ้น 594.19 ล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำที่สุด 7.87 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก 45.66 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำ 132.61 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 180.35 ล้านบาท และพื้นที่เสี่ยงสูง ช่วยเหลือ 227.70 ล้านบาท และ เกษตรกร ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัย ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำที่สุดจำนวน 3.80 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก จำนวน 13.52 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงต่ำ จำนวน 29.86 ล้านบาท พื้นที่เสี่ยงปานกลาง จำนวน 35.95 ล้านบาท และพื้นที่เสี่ยงสูง จำนวน 47.08 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ การวิเคราะห์ถึงการประกันความเสี่ยงของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรวม 47 ล้านบาท และจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 523 ล้านบาท สำหรับภัย 6 ประเภท เพราะฉะนั้นส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายและค่าสินไหม จำนวน 476 ล้านบาท ขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เกษตรกรต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยรวม 3.80 ล้านบาท และจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 70 ล้านบาท เพราะฉะนั้นส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายและค่าสินไหม จำนวน 66 ล้านบาท ดังนั้นภาพรวมของส่วนต่างที่เกษตรกรได้รับจากการเข้าร่วมโครงการรวมทุกพื้นที่จำนวน 1,536 ล้านบาท และ จำนวน 702 ล้านบาท ตามลำดับของภัยพิบัติแต่ละประเภทนั่นเอง
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปัจจุบัน พบว่า การดำเนินการประกันภัยไปแล้วทุกพื้นที่ความเสี่ยง รวมจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 0.29 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันรวม 128 ล้านบาท เกษตรกรจำนวน 3.1 หมื่นรายที่เข้าร่วมโครงการและมีพื้นที่ร้อยละ 19.67 ของพื้นที่เป้าหมายรวม
ควรดำเนินการประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดโครงการ และเงื่อนไขในการทำประกันภัยให้ชัดเจนแก่เกษตรกร เพื่อประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และมีการบูรณาการการประเมินพื้นที่เสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีความคิดเห็นร่วมกัน รวมถึงการขยายประเภทของสินค้าเกษตรที่ทำประกันภัย และควรมีการพิจารณาขยายประเภทของสินค้าเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรอื่นๆ เป็นต้น เพื่อให้สามารถประกันภัยความเสี่ยงจากธรรมชาติได้ด้วย อีกทั้งมูลค่าเบี้ยที่ทำประกันโดยบริษัทประกันภัยดำเนินการนั้น จะต้องพิจารณาถึงเบี้ยประกันที่แท้จริงควรอยู่ที่ระดับใด หากว่ารัฐบาลไม่เข้าไปอุดหนุน (subsidy) เพื่อทำให้โครงการนี้สามารถขับเคลื่อนไปอย่างยั่งยืน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--