นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการเสวนา เรื่อง ทางออกประเทศไทย ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง ซึ่ง สศก. ได้จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งการเสวนาดังกล่าว มีผู้ร่วมการเสวนาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ประกอบด้วย 1) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2) ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 3) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต 4) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน 5) นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 6) นายสมพงษ์ อ้นชาวนา ผู้แทนเกษตรกร จังหวัดพิษณุโลก และ 7) นายชูชาติ อินสว่าง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น ในการนี้ สศก. ได้สรุปผลการเสวนา รวมทั้งข้อคิดเห็นต่างๆ ที่สำคัญและน่าสนใจในหลายประเด็น ดังนี้
เกษตรกรภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างได้เปรียบภาคอื่น เนื่องจากใช้น้ำจากเขื่อนในการทำนา เป็นหลัก ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และที่ผ่านมาเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาไม่มีการปรับตัวเมื่อเกิดปัญหา ดังนั้น มีทางเลือก 2 ทาง คือ (1) ออกไปทำงานนอกบ้าน/นอกพื้นที่ หรือรับจ้าง และ (2) ขอชดเชยความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลควรวางหลักเกณฑ์ โดยนำข้อมูลของ GISTDA ระดับตำบล มาประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผ่านองค์กร/สภาตำบล หรือจัดสรรให้ อบต.ทำโครงการจ้างงานชั่วคราว และให้เกษตรกรทำประกันภัยพืชผลเกษตร เพื่อทดแทนระบบจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาเกษตรกรบางกลุ่มมี Moral Hazard และรัฐบาลควรทบทวนและอุดหนุนค่าเบี้ยประกันบางส่วน
นอกจากนี้ ควรปฏิรูปกระบวนการจัดการน้ำชลประทานใหม่ แทนการจัดการแบบรวมศูนย์ที่ทำให้เกิดจุดอ่อนในหลักธรรมาภิบาล ควรเน้นจัดการด้าน Demand Side และถ่ายโอนอำนาจการบริหารจัดการน้ำจากระดับจังหวัดลงสู่ชุมชน โดยผู้ใช้น้ำเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในด้านการใช้น้ำ ค่าบำรุง/ซ่อมแซมคูคลอง เพื่อให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้ำและจะได้ใช้น้ำอย่างประหยัด มีการซ่อมบำรุงระบบแบบ Two in One เช่น การซ่อมบำรุงระบบคลองในทุ่งรังสิต ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ ทั้งนี้ กรมชลประทานควรมุ่งงานด้านเทคนิค วิชาการ และส่งเสริมระบบการจัดการลุ่มน้ำและคูคลองให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม แนะนำให้งดการช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบจ่ายเป็นเงินสด เปลี่ยนเป็นมาตรการอื่นที่ชัดเจน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและให้ความสำคัญกับปศุสัตว์ ประมง และพืชอื่น รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้ล่วงหน้า เช่น ขณะนี้ต้องให้ข้อมูลการเพาะปลูกในฤดูแล้งหน้า (1 พ.ย. 58-30 เม.ย. 59)
สำหรับมาตรการที่รัฐควรดำเนินการ ได้แก่ (1) ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เป็นการส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทำเกษตรแปลงใหญ่ (2) โครงการฟาร์มชุมชน ประมาณ 3,000 ตำบล เพื่อจ้างงานและสร้างแหล่งอาหารรวมทั้งรายได้ (3) การตรวจเยี่ยมและสื่อสารความเข้าใจทุกชุมชนที่ประสบภัยแล้งผ่านศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์ และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล (ศบกต.) โดยแต่ละศูนย์ฯ มี Internet สามารถใช้ Application Facebook และมี Mobile Units รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในฤดูแล้งปีเพาะปลูก 2558/59 เนื่องจากลุ่มเจ้าพระยาต้องงดทำนา 3 รอบ (นาปรัง ปี 2558 นาปี ปี 2558/59 และคาดว่าจะกระทบนาปรัง ปี 2559) เพื่อให้เกษตรกรได้วางแผนจัดการน้ำ โดยระบบการตรวจเยี่ยมรายตำบลลงถึงระดับหมู่บ้าน และครัวเรือน ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรดูแลด้านการเกษตรและเกษตรกร โดยยึดแนวทางการจัดสรรน้ำ ดังนี้ (1) ด้านการอุปโภค-บริโภค น้ำกินน้ำใช้ให้พอเพียง (2) ด้านการรักษาระบบนิเวศน์ ไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่เกษตร (3) ด้านการเกษตร ดูแลพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกข้าวแล้ว 3.44 ล้านไร่ และ (4) ด้านอุตสาหกรรม ควรมีมาตรการจำกัดการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหญ่ เพื่อให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ) การลดแรงดันน้ำในเวลากลางคืน รวมทั้งการหมุนเวียนจ่ายน้ำ โดยคนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ามีความตระหนักในการประหยัดน้ำ ตลอดจนเน้นจัดการด้าน Demand water management มากกว่าด้าน Supply water management เพื่อการปฏิรูปจัดการน้ำแบบใหม่ เพราะ Supply มีข้อจำกัดในการขยายตัว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--