นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะผู้ประสานงานระดับชาติ (National Focal Point) ภายใต้ MOU on ASEAN Cooperation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme ได้ร่วมในการประชุมคณะกรรมการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือและแนวทางร่วมกันของอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 22 (The 22nd Joint Committee Meeting (JCM) on ASEAN Cooperation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme) ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าของคณะทำงานรายสินค้า (National Focal Point Working Group: NFPWG) และรับทราบถึงความคืบหน้าในการจัดทำวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์สำหรับความร่วมมืออาเซียนด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ปี ค.ศ. 2025 เมื่อวันที่ 27–28 กรกฎาคม 2558 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 8 ประเทศ (ยกเว้นบูรไนดารุสซาลาม และสิงคโปร์) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEC) และผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนาม สำหรับผู้แทนของไทยนอกจากเจ้าหน้าที่ของ สศก. แล้วยังร่วมด้วยสำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหมเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
สำหรับผลของการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ Lead Country ในทุกสินค้า ดำเนินการประสานงานภายในกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ทำการพิจารณาทบทวน แก้ไข และปรับปรุงแผนการดำเนินงานใน Strategic Plan of Action (SPA)ของสินค้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์สำหรับความร่วมมืออาเซียนด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ในปี ค.ศ. 2025 (New Vision and Strategic Plan for ASEAN Cooperation in Food, Agriculture and Forestry towards 2025)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะทำงานรายสินค้า (NFPWG) ทั้ง 12 สินค้า ได้แก่ สาหร่าย โกโก้ มะพร้าว กาแฟ ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ น้ำมันปาล์ม ถั่วต่างๆ พริกไทย มันสำปะหลัง ชา ทูน่า และหม่อนไหม โดยในครั้งนี้มาเลเซียในฐานะ Lead Country สินค้าโกโก้ ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาร่างเอกสาร ASEAN Code of Practice for the Prevention and Reduction of Ochratoxin A (OTA) Contamination in Cocoa Beans และอินโดนีเซียในฐานะ Lead Country สินค้าทูน่า ได้เสนอร่างเอกสาร ASEAN Tuna Eco–Labeling ซึ่งเอกสารทั้งสองจะต้องเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 36 สมัยพิเศษ (Special SOM–36th AMAF) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
สำหรับสินค้าที่ไทยเป็น Lead Country ได้แก่ มันสำปะหลัง และหม่อนไหมนั้น ไทยได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนการดำเนินงานในการจัดตั้งสมาพันธ์การค้ามันสำปะหลังของอาเซียน โดยเน้นประเทศเพื่อนบ้านลาวและกัมพูชาก่อน และให้แจ้งชื่อ Focal Point สำหรับ NFPWG สินค้าหม่อนไหมที่เพิ่งบรรจุเพิ่มเข้ามาใหม่ใน MOU ความร่วมมือสินค้าเกษตรและป่าไม้ ค.ศ. 2015–2019
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--