นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะคณะกรรมการและที่ปรึกษาด้านการประเมินผลโครงการอาหารปลอดภัย ว่า จังหวัดพิษณุโลกได้ดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร และกำหนดนโยบาย “พิษณุโลกเมืองมาตรฐาน อาหารปลอดภัย”ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2555-2559 โดยในปี 2558 ได้อนุมัติงบประมาณ 8,400,000 บาท ให้หน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กว่า 30 หน่วยงาน ร่วมบูรณาการรับผิดชอบในแต่ขั้นตอนตามห่วงโซ่อาหาร ในทุกระดับตั้งแต่ระดับต้นน้ำ (แหล่งวัตถุดิบ) ระดับกลางน้ำ (การผลิตอาหาร) และระดับปลายน้ำ (การจัดจำหน่ายอาหาร)ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุน ควบคุม กำกับ ติดตาม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหาร และคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดพิษณุโลก
ในการนี้ ได้กำหนดกิจกรรมในการดำเนินการ ดังนี้ 1.การพัฒนาแหล่งเพาะปลูกพืชปลอดภัย 2. การพัฒนาสถานที่เลี้ยงสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ร้านขายอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ ร้านขายยาและเคมีภัณฑ์สัตว์ 3. การพัฒนาตลาดสดและสถานที่จำหน่ายอาหารสดในตลาด 4. การพัฒนาสถานประกอบการผลิตอาหารแปรรูป ร้านจำหน่ายอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหาร 5. การพัฒนาอาหารปลอดภัยในสถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและศาสนสถาน 6. การพัฒนาอาหารปลอดภัยในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน 7.การพัฒนาและเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยในห้องปฏิบัติ 8. การประชาสัมพันธ์ 9. การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้านอาหารปลอดภัย 10. การเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากความไม่ปลอดภัยในอาหาร 11.การประเมินผลความก้าวหน้าการดำเนินงานความปลอดภัยในอาหาร นอกจากนี้ ยังมีสมาคม รัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยอีกจำนวนหนึ่ง โดยเน้นการป้องกัน เฝ้าระวัง ประเมินข้อมูลความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร และการบริโภคของประชากรทุกกลุ่มวัย
จากการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ ในรอบ 10เดือน (ต.ค.2557-ส.ค.2558) พบว่า จังหวัดพิษณุโลก มีชุมชนต้นแบบอาหาร และสถานที่จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยในทุกอำเภอ มีการจัดคลินิกบริการดูแลสุขภาพให้แก่เกษตรกรทั้งจังหวัด รวม 145แห่ง และจากผลการประเมิน ยังพบว่า ในสถาบันศึกษามีโรงอาหารและในโรงพยาบาลมีโรงครัวผ่านเกณฑ์อาหารสะอาดรสชาติอร่อยทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 100 มีอาหารปลอดภัยจากสารปนเปื้อน 6 ชนิด ร้อยละ 99 มีตลาดสดประเภทที่ 1 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ ร้อยละ 90
ร้านค้าและแผงลอยจัดจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารสะอาดรสชาติอร่อย คิดเป็นร้อยละ 89 โรงอาหารในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 88 โรงอาหารในโรงเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 87 มีสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 83 ภาชนะและมือผู้สัมผัสอาหารปลอดภัยจากโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหารพร้อมบริโภคร้อยละ 78 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรก ไม่มีการเกิดโรครายกลุ่ม และไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากสาเหตุอาหารเป็นพิษ
ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก มีการจัดงานมหกรรมอาหารตามเทศกาลต่างๆ อยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2558 ทางเทศบาลนครพิษณุโลก ยังได้รณรงค์ไม่ใช้กล่องโฟมเป็นภาชนะในการบรรจุอาหารในงานดังกล่าวครบร้อยละ 100 อีกด้วย นายชวพฤฒ กล่าว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--