ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 7, 2015 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก

ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 อนุมัติขยายระยะเวลาให้เกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่มีการเพาะปลูกข้าวในช่วงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือน (ตุลาคม – ธันวาคม 2557) ที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 37,402 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ และอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดระบบให้สำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการบันทึก แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเพื่อให้เกษตรกร จำนวน 2,091 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้

ผลการดำเนินงาน

1.1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2558

  • ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3.714 ล้านครอบครัว 61.411 ล้านไร่

1.2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 3 กันยายน 2558

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.      3.628 ล้านครอบครัว    39.458 ล้านไร่

(ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2558)

          - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ         0.009 ล้านครอบครัว     0.064 ล้านไร่

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร              3.619 ล้านครอบครัว   39,394.033 ล้านบาท

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 58 เห็นชอบในหลักการการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยเป็นการนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2557/58

มาปรับปรุงโครงการ/จัดทำเป็นโครงการใหม่ และใช้วงเงินคงเหลือ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

— 1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

— 2) การเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

— 3) โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน)

— 4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58 (สำนักงานการค้าภายในจังหวัด)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในบางพื้นที่ช่วงเก็บเกี่ยวมีฝนตก ทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,105 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,076 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,017 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,108 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 872 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,994 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 874 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,953 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 41 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,880 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 702 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,861 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,080 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,068 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 12 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,725 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 359 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,714 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 11 บาท

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,293 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,458 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.58 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 165 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.5435 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

— ปัจจุบัน แม้ว่ากัมพูชาจะสามารถผลิตข้าวหอมมะลิได้หลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ Phka Romdeng พันธุ์ Phka Romeat และพันธุ์ Phka Rumduol แต่ยังไม่มีชื่อเฉพาะที่จะใช้เรียกเพื่อแยกข้าวหอมมะลิของกัมพูชาออกจากข้าวหอมมะลิของชาติอื่นๆ ในตลาดโลก ดังนั้น รัฐบาลกัมพูชาและสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodian Rice Federation: CRF) อยู่ระหว่างการหาชื่อที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกข้าวหอมมะลิกัมพูชาออกจากข้าวหอมมะลิไทยได้ ซึ่งปัจจุบันในตลาดต่างประเทศ ข้าวหอมทุกสายพันธุ์ของกัมพูชาจะรู้จักในนาม “ข้าวหอมกัมพูชา (Cambodian Fragrant Rice)” เลขาธิการสหพันธ์ข้าวกัมพูชาให้สัมภาษณ์กับสื่อ Phnom Post ว่า การติดป้ายเพื่อแสดงชื่อของชนิดข้าวที่หลากหลายชื่อเกินไปนั้น เป็นการบ่อนทำลายจุดแข็งของการผลิตข้าวของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน สหพันธ์ฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารด้านการส่งเสริมการตลาด เพื่อพิจารณาหาชื่อที่เหมาะสม และจะประกาศในการประชุมข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Forum) ในเดือนพฤศจิกายน

— ขณะที่ กระทรวงเกษตรกัมพูชาเสนอให้ใช้ชื่อ “Cambodia Jasmine Phka Rumdol” เป็นชื่อแบรนด์สำหรับใช้เรียกข้าวหอมมะลิของกัมพูชา โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (Department of Agriculture) ได้ออกมากระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้ชื่อดังกล่าวในการส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกบางรายให้ความเห็นว่า การใช้ชื่อดังกล่าวกับข้าวหอมของกัมพูชาทุกสายพันธุ์อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ และเสนอให้มีการใช้ชื่อที่ครอบคลุมข้าวหอมของกัมพูชาทุกสายพันธุ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการก่อนตัดสินชื่อที่จะนำมาใช้

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการเลือกใช้ชื่อแล้ว การทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ซื้อและกระตุ้นการส่งออก

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวประมาณ 1.1 ล้านตัน (รวมข้าวที่ส่งออกอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ) เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

— แหล่งข่าวจากสหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation: MRF) เปิดเผยว่า เมียนมาร์อาจจะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายน หลังจากที่รัฐบาลห้ามการส่งออก เนื่องจากฝนตกหนักและน้ำท่วม

— เมียนมาร์ระงับการส่งออกข้าว ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีผลถึงช่วงกลางเดือนกันยายนซึ่งเป็นฤดูที่ข้าวออกสู่ตลาด การตัดสินใจยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวในครั้งนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มสูงขึ้นของราคาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกข้าวประมาณร้อยละ 15 หรือประมาณ 400,000 เฮคตาร์ (หรือประมาณ 2.5 ล้านไร่) ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรจะขยายระยะเวลาการห้ามการส่งออก ออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อรักษาระดับสต๊อกให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทคและรักษาเสถียรภาพด้านราคา

— เลขาธิการสหพันธ์ฯ ระบุว่า ข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่กำลังจะออกสู่ตลาดเนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยว และปัจจุบัน เมียนมาร์มีข้าวเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการจะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งตามที่ได้เคยกำหนดไว้ ทั้งนี้ ทางสหพันธ์ฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2558 เมียนมาร์จะส่งออกข้าวได้ไม่ถึง 1.5 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 2 ล้านตัน และต่ำกว่าปริมาณการส่งออกของปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เมียนมาร์เป็นประเทศผู้ส่งออกสุทธิ และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา ในปี 2557 เมียนมาร์ส่งออกข้าวประมาณ 1.8 ล้านตัน และในปี 2558 ทางสหพันธ์ฯ คาดว่า เมียนมาร์ผลิตข้าว 14 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 8.96 ล้านตันข้าวสาร)

ขณะที่ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2558/59 (มกราคม – ธันวาคม 2558) เมียนมาร์ผลิตข้าว 20 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 12.8 ล้านตันข้าวสาร) และส่งออกข้าวประมาณ 2.2 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

ไนจีเรีย

— ปลัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Federal Ministry of Agriculture and Rural Development: FMARD) เปิดเผยว่า รัฐบาลไนจีเรียอยู่ระหว่างทบทวนนโยบายนำเข้าข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับรายได้เกษตรกร และเป็นการกระตุ้นการส่งออกข้าว โดยระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Nigerian Investment Promotion Commission: NIPC) มีความเห็นว่า ปัจจุบันนโยบายฯ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคการผลิตข้าว ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการจัดทำแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านข้าว ก่อนที่จะจำกัด

— การนำเข้าข้าว โดยร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตข้าว

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ได้เรียกร้องให้มีการลงทุนในภาคการผลิตข้าว พร้อมทั้งระบุว่า ไนจีเรียยังคงมีพื้นที่เพาะปลูกและทรัพยากรธรรมชาติมาก และมีเพียงพอต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าว นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและตลาด เพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าให้เข้มแข็ง

— รัฐบาลไนจีเรียตั้งเป้าหมายพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวและยกเลิกการนำเข้าภายในปี 2558 โดยจัดทำวาระการปฏิรูปด้านการเกษตร (Agriculture Transformation Agenda: ATA) ในปี 2555 และเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับข้าวที่ขัดแล้วและข้าวที่สีแล้วเป็นร้อยละ 40 และร้อยละ 110 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มภาษีดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการลักลอบการนำเข้าทางชายแดน เพื่อที่จะกำจัดปัญหาลักลอบนำเข้าดังกล่าว ในปี 2557 รัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาษีนำเข้าสำหรับข้าวที่ขัดแล้วและข้าวที่สีแล้วเหลือร้อยละ 30 และร้อยละ 70 ตามลำดับ

— ในปี 2557 ไนจีเรียผลิตข้าวประมาณ 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปี 2556 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) ไนจีเรียผลิตข้าว 2.55 ล้านตัน และนำเข้า 3.5 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศประมาณ 6.1 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 31 ส.ค. - 6 ก.ย. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ