ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 15, 2015 14:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 อนุมัติขยายระยะเวลาให้เกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่มีการเพาะปลูกข้าวในช่วงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือน (ตุลาคม – ธันวาคม 2557) ที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 37,402 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ และอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดระบบให้สำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการบันทึก แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเพื่อให้เกษตรกร จำนวน 2,091 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วม

มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้

ผลการดำเนินงาน

1.1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2558

          - ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว                     3.714 ล้านครอบครัว          61.411 ล้านไร่

1.2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 3 กันยายน 2558

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.      3.628 ล้านครอบครัว          39.458 ล้านไร่

(ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2558)

          - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ         0.009 ล้านครอบครัว           0.064 ล้านไร่

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร              3.619 ล้านครอบครัว     39,394.033 ล้านบาท

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 58 เห็นชอบในหลักการการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยเป็นการนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2557/58

มาปรับปรุงโครงการ/จัดทำเป็นโครงการใหม่ และใช้วงเงินคงเหลือ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

— 1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

— 2) การเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

— 3) โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน)

— 4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58 (สำนักงานการค้าภายในจังหวัด)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์

ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงเก็บเกี่ยวมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ประกอบกับผู้ประกอบการโรงสีชะลอการรับซื้อข้าวเปลือก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,149 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,105 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,828 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,017 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.35

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,790 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.03

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 866 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,997 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 872 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,994 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 41 บาท

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 680 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,339 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,880 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.86 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 541 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,885 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,080 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.17 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 195 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 348 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,456 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,725 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.79 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 269 บาท

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,064 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,293 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.41 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 229 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7930 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

— กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2558 เหลือ 6 ล้านตัน ลดลงจาก 6.7 ล้านตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์อย่างเป็นทางการ และลดลงจาก 6.325 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกในปีที่ผ่านมา การพิจารณาปรับลดในครั้งนี้เนื่องมาจากการแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น เช่น ไทย อินเดีย และปากีสถาน รวมถึงประเทศผู้ส่งออกรายใหม่ เช่น กัมพูชา และเมียนมาร์ ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับความต้องการจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าหลักของเวียดนาม ลดลง

— ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 (มกราคม – ธันวาคม 2558) เวียดนามผลิตข้าว 44.92 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 28.07 ล้านตันข้าวสาร) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 44.88 ล้านตันข้าวเปลือก (หรือประมาณ 28 ล้านตันข้าวสาร) เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วงในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น (ถึงแม้ว่าผลผลิตในฤดูใบไม้ผลิจะลดลงเล็กน้อย และผลผลิตในฤดูใบไม้ร่วงในพื้นที่ทางตอนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะลดลงก็ตาม)

— นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 เวียดนามมีสต๊อกข้าวจำนวน 973,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 849,000 ตัน เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ลดลงจาก 999,000 ตัน เมื่อเทียบกับปริมาณสต๊อกในปีที่ผ่านมา

— ปัจจุบัน ปริมาณการบริโภคข้าวต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ 136 กิโลกรัมต่อปี ลดลงเนื่องจากประชากรเปลี่ยนไปบริโภคอาหารอย่างอื่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ข้าวในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

— พื้นที่ปลูกข้าวฤดูมรสุม (มิถุนายน – ธันวาคม) ของอินเดียยังคงที่ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะมีไม่เพียงพอในช่วงครึ่งหลังของฤดูมรสุม (สิงหาคม – กันยายน) โดยกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า ณ วันที่ 4 กันยายน 2558 มีพื้นที่ปลูกข้าวรวม 36.146 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 225.91 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจาก 35.747 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 223.42 ล้านไร่) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

— กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติประมาณร้อยละ 12 โดยในภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติร้อยละ 12 และร้อยละ 16 ตามลำดับ ขณะที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติร้อยละ 22 และร้อยละ 1 ตามลำดับ ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของฤดูมรสุม (สิงหาคม – กันยายน) อินเดียขาดแคลนน้ำฝนประมาณร้อยละ 16 โดยในเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติร้อยละ 10 และในเดือนกันยายน ปัญหาการขาดแคลนน้ำฝนจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง

— รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 อินเดียผลิตข้าว 104.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากขาดแคลนน้ำฝนในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก (มิถุนายน – กันยายน 2557) ในพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาลและพายุลูกเห็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากฤดูมรสุมในปีนี้ผิดปกติ ปริมาณผลผลิตข้าวของอินเดียจะลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น

— ราคาข้าวโลกในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 20 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลต่อแนวโน้มการผลิตของประเทศในเอเชียหลายประเทศ เช่น อินเดีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

— สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า องค์กรอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ (National Food Authority: NFA) ประกาศประมูลนำเข้าข้าวจำนวน 750,000 ตัน เพิ่มเติมจาก 1.8 ล้านตัน ที่มีแผนนำเข้าในปีนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

— องค์กรอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอจากเวียดนาม ไทย และกัมพูชา สำหรับข้าวขาว 25% ก่อนวันที่ 17 กันยายน 2558 โดยกำหนดให้ส่งมอบข้าวครั้งแรกจำนวน 250,000 ตัน ภายในสิ้นปีนี้ และส่งมอบอีก 500,000 ตัน ในไตรมาสแรกของปี 2559

— องค์กรอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ระบุว่า ขณะนี้องค์กรฯ ต้องการรักษาระดับสต๊อกให้คงที่เพื่อรับมือกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเตรียมตัวเป็นมาตรการที่ดีที่สุด เพื่อรับมือกับภัยแล้งที่เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนตุลาคม – พฤษภาคม 2559

— หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่น ออกประกาศเตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญในครั้งนี้ อาจจะรุนแรงเทียบเท่ากับปี 2540 - 2541 ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 24 และอาจรุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2493

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 7 - 13 ก.ย. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ