นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการศึกษาศักยภาพและการบริหารจัดการการค้าสินค้าเกษตรไทยในอาเซียน ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในเบื้องต้นพบว่า ในปี 2558 (ม.ค.-ก.ค.) สินค้าเกษตรไทยในอาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 202,188 ล้านบาท เป็นมูลค่าการส่งออก 150,683 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 51,506 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 99,177 ล้านบาท มีอัตราการเจริญเติบโตที่ร้อยละ 0.52 ดังตาราง
สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกในอาเซียน ได้แก่ ข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ผลไม้ จำพวก ลำไยสด ทุเรียนสด มะม่วง เป็นต้น สินค้านำเข้าได้แก่ รังนกนางแอ่น น้ำมันปาล์มและเนื้อในเมล็ดปาล์ม มะพร้าวฝอยและน้ำมันมะพร้าว โกโก้ ปลาและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งในปี 2558 คณะกรรมการและคณะทำงานของศูนย์ติดตามฯในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรระหว่างประเทศไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อให้ทราบศักยภาพ โอกาสและอุปสรรค การค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศไทย เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำหรับเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการค้าสินค้าเกษตรผ่านแดน โดยศึกษาเส้นทางการขนส่งและการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ จากด่านชายแดนไทยผ่านไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา สิ้นสุดที่ประเทศเวียดนามและสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า นอกจากการค้ากับประเทศภายในอาเซียนด้วยกันเองแล้ว ประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญในการส่งออกในสินค้าผลไม้ของไทย โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในแต่ละปีไทยส่งผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่มากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณผลไม้ที่ไทยส่งไปขายทั่วโลก โดยมีมณฑลกวางตุ้ง (ภาคใต้) และนครเซี่ยงไฮ้ (ภาคตะวันออก) เป็นท่าเรือและตลาดหลักที่ใช้นำเข้าและขายส่งผลไม้ไทยเพื่อกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบัน นอกจากการขนส่งทางเรือไปยังกวางตุ้งและเซี่ยงไฮ้แล้ว มีเส้นทางที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือไปยังนครคุนหมิงของจีน และเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปยังมณฑลกว่างซีของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยผ่านลาวและเวียดนาม เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พ่อค้าไทยใช้ส่งผลไม้ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
เส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทยที่สามารถขนส่งไปยังตลาดอาเซียนและตลาดคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สาธารณรัฐประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียงตามลำดับ ได้แก่
1. เส้นทาง R3A อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถึง นครคุนหมิง ประเทศจีน การขนส่งสินค้าไทยไปจีน บางส่วนพบว่า มีพ่อค้านำสินค้าไทยขนถ่ายรถบรรทุกเล็ก เพื่อแปลงเป็นสินค้าลาวเนื่องจากเสียภาษีน้อยกว่า แต่หลังจากที่มีการเปิดใช้สะพานไทย-ลาว แห่งที่ 4 แล้วช่วยให้การขนส่งระหว่างกันสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องขนถ่ายสินค้าลงเรือ ซึ่งทำให้เสียเวลาและสินค้าเกษตรเสียหาย สินค้าเกษตรส่งออก คือ ผักและผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ มะพร้าวอ่อน กล้วยหอม กล้วยไข่ จากประเทศไทย และ สปป.ลาว
2. เส้นทาง Southern Corridor อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ถึงท่าเรือ วุงเตา ประเทศเวียดนาม การขนส่งสินค้าจากไทยไปเวียดนามตอนใต้นิยมใช้เส้นทางเรือมากกว่า สำหรับเส้นทางบกเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าผลไม้ ผ่านด่านชายแดนมอคไบ (กัมพูชา-เวียดนาม) สินค้าเกษตรที่นำเข้า คือ มันสำปะหลัง สินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย เช่น อาหารทะเล ผักและผลไม้ ของใช้เบ็ดเตล็ด ส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้
3. เส้นทาง R9 จ.มุกดาหาร ผ่าน สะหวันนะเขต ลาวบาว ประเทศลาว ผ่าน วินห์ ฮานอย ประเทศเวียดนาม ถึง ผิงเสียง นครกวางโจว ประเทศจีน บริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม ได้มีการเริ่มใช้งานแบบ One stop service ช่วยให้การผ่านแดนสะดวกมากขึ้น สินค้าเกษตร คือ ยางพารา น้ำตาล ผักและผลไม้ โดยเฉพาะสินค้าเบ็ดเตล็ด เครื่องอุปโภคบริโภคส่งไปยังเวียดนามตอนกลาง
4. เส้นทาง Southern Coastal Corridor เป็นเส้นทางนี้จะสามารถเชื่อมโยงไทย กัมพูชา และเวียดนาม แต่จุดหมายปลายทางการขนส่งสินค้าโดยใช้ช่องทางนี้อยู่ที่บริเวณเกาะกง และจังหวัดพระสีหนุเท่านั้น ผู้ประกอบการนิยมขนส่งสินค้าทางทะเลมากกว่า ถึงแม้จะใช้เวลานานแต่มีต้นทุนที่ถูกกว่าและสามารถขนส่งได้คราวละปริมาณมาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษพระสีหนุเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการลงทุนแปรรูปสินค้าประมงที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เส้นทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากประเทศไทย สามารถนำสินค้าเกษตรของเราไปสู่ต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็ว จากเส้นทางดังกล่าวข้างต้น และเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในบริหารจัดการขนส่ง นอกเหนือจากการขนส่งทางเรือ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--