นายสุรพงษ์ เจียสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 สศก. ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการศึกษาและวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่สำคัญ เพื่อกำหนดแผนพัฒนาโลจิสติกส์การเกษตร จัดทำตัวชี้วัด และสร้างเครื่องมือการประเมินประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) ของสินค้าเกษตรสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และหน่อไม้ฝรั่ง โดยครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ อันสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของสมาชิกในโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้รวบรวม โรงงานแปรรูป เป็นต้น ในแหล่งปลูกพืชที่สำคัญของประเทศ จำนวน 29 จังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายงานฉบับสมบูรณ์
สำหรับแผนการดำเนินงานดังกล่าว สศก. ได้มีการจัดประชุมสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) 15 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุดรธานี บึงกาฬ สระแก้ว เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ระยอง ตราด ชุมพร และสงขลา ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2558 เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น อย่างไรก็ตาม พบประเด็นปัญหาที่น่าสนใจในโซ่อุปทานสินค้าเกษตรข้างต้นในแต่ละสินค้า ดังนี้ ข้าว พบว่า โซ่อุปทานข้าวทั่วไป หลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าว ความต้องการเมล็ดพันธุ์ลดลงมาก ทำให้เมล็ดพันธุ์ค้างสต็อก เกษตรกรนิยมเก็บเมล็ดพันธุ์เองเพื่อลดต้นทุน ทำให้เกิดปัญหาข้าวพันธุ์อื่นปนในข้าวหอมมะลิตั้งแต่ระดับต้นน้ำ ลูกค้าต่างประเทศบางรายจึงให้ตรวจ DNA ข้าวเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าซึ่งเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น สำหรับโซ่อุปทานข้าวคุณภาพ ลูกค้าต่างประเทศมีความต้องการข้าวคุณภาพจำนวนมาก แต่มีผลผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้ารักสุขภาพได้ ต้องกลับไปขายให้กับโรงสีเดิม ราคาเท่าเดิม และล้มเลิกการผลิตข้าวคุณภาพในที่สุด ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้โซ่อุปทานข้าวคุณภาพเข้มแข็งโดยเฉพาะเรื่องการตลาด
มันสำปะหลัง พบปัญหารถติดคิวและราคาสินค้าตกต่ำในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้บางจังหวัดเสนอแนวทางแก้ไข ได้แก่ การชะลอการขุด (Stock on Farm) แปรรูปแล้วสต็อกในโรงงาน แป้งมันสำปะหลัง หรือดำเนินการทั้งสองทางเลือกควบคู่กัน ปัญหาวิ่งรถเที่ยวเปล่า (Backhauling) ซึ่งเกิดขึ้นจากรถบรรทุกขึ้นทะเบียนขนส่งสินค้าเกษตร ทำให้ขากลับไม่สามารถรับสินค้าอื่นกลับได้ ปัญหาการขนส่งสินค้าทางรถไฟซึ่งมีหัวรถจักรและแคร่ไม่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่ผ่านมามีการขนส่งสินค้าไปกับขบวนรถโดยสารได้ซึ่งมีปริมาณขั้นต่ำลดลง ทำให้การขนส่งสินค้ายืดหยุ่นมากขึ้น
ยางพารา แม้ภาครัฐจะสนับสนุนใช้การขนส่งสินค้าทางราง แต่รถไฟไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุงเท่าที่ควร ทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟโดยตรงจากประเทศไทยไปมาเลเซียผ่านด่านปาดังเบซาร์ ลูกค้าจึงใช้วิธีการจ้างรถหัวลากเพื่อลากตู้คอนเทนเนอร์จากโรงงานไปขึ้นรถไฟฝั่งมาเลเซียแล้วส่งต่อไปท่าเรือปีนัง แต่เกิดปัญหารถหัวลาก ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราเดิม มีเฉพาะตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออกขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง แต่กระบวนการดำเนินงานยังมีข้อจำกัด
ทุเรียน พบว่าล้งรับผิดชอบต้นทุนโลจิสติกส์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมาเก็บเกี่ยวและรับซื้อถึงสวน แต่การเก็บเกี่ยวทุเรียนอ่อนยังเป็นปัญหาโลจิสติกส์ที่ต้องปรับปรุง
หน่อไม้ฝรั่ง ทางผู้ประกอบการจะส่งรถห้องเย็นมารับซื้อสินค้าถึงจุดรวบรวมของสถาบันเกษตรกร แต่เนื่องจากปัญหาโรคระบาดและพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งไม่เพียงพอ ทำให้ปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ลดลงมาก ต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจาก 1 บาท/กิโลกรัม เป็น 10 บาท/กิโลกรัม
ดังนั้น จากสภาพปัญหาสำคัญของของเกษตรกรในพื้นที่ข้างต้น สศก.จึงได้เร่งจัดทำรายละเอียดแนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตรทั้ง 5 ชนิด เพื่อผนวกรวมร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) โดยกำหนดจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นที่มีร่างรายงานฉบับดังกล่าวในปลายเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ต่อ วช .และ สกว. ภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 ต่อไป
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--