ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2015 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบในหลักการการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยเป็นการนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปี 2557/58 มาปรับปรุงโครงการ/จัดทำเป็นโครงการใหม่ และใช้วงเงินคงเหลือ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

— 1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

— 2) การเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

— 3) โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน)

— 4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58 (สำนักงานการค้าภายในจังหวัด)

— 2) โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59

— มติที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59

— วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน

— ระยะเวลาดำเนินโครงการ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 เมษายน 2559 ประกอบด้วย

8 มาตรการ ดังนี้

— 1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

— 1.1 โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งด้านการเกษตร (กษ.)

— 1.2 ลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม (พณ.)

2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน

— 2.1 การลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดิน (กษ.)

— 2.2 การให้สินเชื่อ (ธ.ก.ส.)

— 2.3 การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ (กษ.)

— 2.4 การขยายระยะเวลาชำระหนี้ (ธ.ก.ส.)

3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

— 3.1 การจ้างงานภายใต้โครงการของกรมชลประทาน (กษ.)

—3.2 การจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ (มท.)

4. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

การจัดทำแผนชุมชน (มท.หน่วยงานหลัก)

5. มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
  • การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด (นร. ธ.ก.ส. และ กษ.)
6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

6.1 การปฏิบัติการฝนหลวง (กษ.)

6.2 การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (พน.)

6.3 การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร (ทส.)

6.4 การสนับสนุนน้ำในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง (กห.)

7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

7.1 การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชน (สธ.)

7.2 การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

8. มาตรการสนับสนุนอื่นๆ

8.1 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (มท.)

8.2 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท (ธ.ก.ส.)

8.3 การบริการข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ (ทก.)

8.4 การกำหนดแนวทางการจัดสรรน้ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่ขาดแคลนน้ำภาคตะวันออก (วท.)

8.5 ระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง (วท.)

8.6 การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตร (กก.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปีที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีบางพื้นที่ที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพข้าวเปลือกไม่ดีเท่าที่ควร

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,105 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,130 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,723 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,673 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 28,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,017 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,090 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.6

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 867 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,441 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 861 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,342 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.7 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 99 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 663 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,279 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,224 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 55 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,167 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (13,215 บาท/ตัน) แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 49 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,816 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,792 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 378 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,272 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,215 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 57 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1113 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เกาหลีใต้

แหล่งข่าวในประเทศเกาหลีใต้รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับความต้องการบริโภคข้าวในประเทศลดลง

รัฐบาลอ้างถึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฯ ที่คาดการณ์ผลผลิตข้าวในปี 2558 มีปริมาณ 4.25 ล้านตันข้าวสาร ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่เพาะปลูกเริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2553 ส่วนความต้องการบริโภคข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 โดยในปี 2557 การบริโภคข้าวเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 65.1 กิโลกรัมต่อปี ลดลงจากปี 2548 ที่บริโภคข้าวเฉลี่ยต่อคน 80.7 กิโลกรัมต่อปี

นอกจากนี้ เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลรับซื้อข้าวที่ผลิตในประเทศเพื่อพยุงราคาท่ามกลางภาวะผลผลิต

ล้นตลาด โดยข้าวบรรจุถุงขนาด 80 กิโลกรัม ราคา 170,000 วอน (ประมาณ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,267 บาท) ลดลงจากราคา 188,000 วอน (ประมาณ 166 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,828 บาท) อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตร ระบุว่า รัฐบาลไม่มีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการสำรองข้าว ทั้งนี้รัฐบาลกำหนดปริมาณการสำรองข้าวตามเกณฑ์สากล ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 17 ของปริมาณการบริโภคข้าวทั้งปี หรือเท่ากับปริมาณการบริโภคสำหรับระยะเวลา 60 วัน

ที่มา http://oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าว Rueters อ้างถึงข้าราชการระดับสูงที่ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์อาจมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นคุปปุ (Koppu) ซึ่งไต้ฝุ่นได้เคลื่อนตัวเข้ามาทำลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ และคาดการณ์ว่าผลผลิตจะเสียหายประมาณ 412,000 ตันข้าวเปลือก

ผู้บริหารกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ ระบุว่า ปริมาณผลผลิตข้าวที่เสียหายอยู่ในระดับรุนแรงและส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (National Food Authority, NFA) จะมีการประชุมเพื่อตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงกลางปี 2559 ปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) ยังคงส่งผลกระทบและทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือของประเทศ

ที่มา http://oryza.com

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Rueters รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเจรจาขอซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยและเวียดนามท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องผลผลิตตกต่ำอันเนื่องมาจากภัยแล้ง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการพิจารณาเรื่องการนำเข้าข้าวเพื่อรักษาปริมาณข้าวสำรองให้เพียงพอต่อการบริโภคและเพื่อพยุงราคา ทั้งนี้ แผนการนำเข้าข้าวในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร เพราะข้าวที่นำเข้าจะยังไม่ระบายออกสู่ตลาดในทันที

ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงตั้งเป้าว่าในปีนี้จะชะลอการนำเข้าข้าว โดยคาดว่าผลผลิตจะมีเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศเพราะเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรระบุว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าว แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าว เพราะองค์การสำรองอาหาร (Bulog) รายงานปริมาณข้าวที่สำรองมีปริมาณลดลงอยู่ที่ 1.7 ล้านตัน

ที่มา http://oryza.com


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ