ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2015 15:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558
— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบในหลักการการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยเป็นการนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปี 2557/58 มาปรับปรุงโครงการ/จัดทำเป็นโครงการใหม่ และใช้วงเงินคงเหลือ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

2) การเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

3) โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน)

4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58 (สำนักงานการค้าภายในจังหวัด)

2) โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59
— มติที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59
วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน
ระยะเวลาดำเนินโครงการ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 เมษายน 2559 ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

1.1 โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งด้านการเกษตร (กษ.)

1.2 ลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม (พณ.) 2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน

2.1 การลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดิน (กษ.)

2.2 การให้สินเชื่อ (ธ.ก.ส.)

2.3 การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ (กษ.)

2.4 การขยายระยะเวลาชำระหนี้ (ธ.ก.ส.) 3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

3.1 การจ้างงานภายใต้โครงการของกรมชลประทาน (กษ.)

3.2 การจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ (มท.) 4. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

  • การจัดทำแผนชุมชน (มท.หน่วยงานหลัก)
5. มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
  • การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด (นร. ธ.ก.ส. และ กษ.)
6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

6.1 การปฏิบัติการฝนหลวง (กษ.)

6.2 การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (พน.)

6.3 การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร (ทส.)

6.4 การสนับสนุนน้ำในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง (กห.) 7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

7.1 การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชน (สธ.)

7.2 การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) 8. มาตรการสนับสนุนอื่นๆ

8.1 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (มท.)

8.2 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท (ธ.ก.ส.)

8.3 การบริการข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ (ทก.)

8.4 การกำหนดแนวทางการจัดสรรน้ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่ขาดแคลนน้ำภาคตะวันออก (วท.)

8.5 ระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง (วท.)

8.6 การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตร (กก.)

3) โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท

โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด และในบางพื้นที่ฝนตกช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยว ทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,632 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,928 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.29

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,732 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,700 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.41

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 27,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 27,975 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,810 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 850 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,012 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 849 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,961 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 51 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 604 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,326 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 661 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,327 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 8.62 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2,001 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,099 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ก่อน (13,057 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 42 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 362 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,782 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,740 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 42 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,099 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,163 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 64 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3081 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากผู้บริหารกระทรวงเกษตรของเวียดนามว่า ปี 2558 รัฐบาลประมาณการส่งออกข้าวได้ 7 - 7.5 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ 6 ล้านตัน ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกดังกล่าว ไม่รวมปริมาณการส่งออกตามแนวชายแดน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทรวงเกษตรเพิ่มประมาณการส่งออกข้าว คือ การเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว และการเพิ่มขึ้นของความต้องการจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ปัจจุบัน ราคาข้าวเวียดนาม 5% อยู่ที่ตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 13,064 บาท) สูงขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ที่ราคาเคยต่ำสุดอยู่ที่ตันละ 325 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 11,475 บาท) ทั้งนี้ ปัจจุบันราคายังคงต่ำกว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีที่ผ่านมา ที่ตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 15,359 บาท)

อนึ่ง ข้อมูลจากสมาคมอาหารแห่งเวียดนาม (Vietnam Food Association) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 ตุลาคม 2558 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 4.48 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ที่ส่งออกข้าวปริมาณ 5.37 ล้านตัน

ที่มา http://oryza.com

จีน
แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า จีนบรรลุข้อตกลงการซื้อข้าวจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม

ระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศ โดยรายงานระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศเห็นชอบในข้อตกลงเรื่องการตรวจสอบสุขอนามัยพืช (phytosanitary) ซึ่งจีนเคยใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้าข้าวจากเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ความสำเร็จในการเปิดตลาดข้าวในจีนของเกาหลีใต้ จะสามารถบรรเทาปัญหาผลผลิตล้นตลาด อันเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น

แต่ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวในประเทศลดลง

ที่มา http://oryza.com

บังคลาเทศ

แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐบาลบังคลาเทศกำลังวางแผนที่จะลดราคาข้าวที่อยู่ในโครงการ OMS (Open Market sale) เพื่อเร่งระบายปริมาณข้าวในโกดังให้ทันกับปริมาณผลผลิตข้าวฤดูฝน (Aman rice หรือข้าวที่เพาะปลูกระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม) ที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคมนี้ ปัจจุบันรัฐบาลเก็บข้าวไว้ในคลังแล้วปริมาณ 1.7 ล้านตัน แต่คลังมีความจุสามารถเก็บข้าวได้เพียง 2 ล้านตัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลจะลดราคาข้าวและแป้งข้าวเจ้า เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโครงการ OMS ได้มากขึ้น ขณะนี้ โครงการ OMS ขายข้าวในราคาประมาณตันละ 299 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือตันละ 10,557 บาท) รัฐมนตรีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่วางแผนและกำกับนโยบายด้านอาหาร (Food Planning and Monitoring Unit) จะกำหนดราคารับซื้อข้าวฤดูฝนในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558

ที่มา http://oryza.com

อินเดีย
แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยข้าว (Central Rice Research Institute, CRRI) กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวในชื่อ climate smart ซึ่งสามารถต้านทานภาวะแล้งและน้ำท่วมได้พร้อมกัน
นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของ CRRI ให้สัมภาษณ์ว่า ความสำเร็จของการพัฒนาพันธุ์ข้าว climate smart นับว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญในการผสมพันธุกรรมที่สามารถต้านทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ตรงข้ามกันสุดขั้ว คือ ภาวะแล้งและน้ำท่วม ไว้ในข้าวสายพันธุ์เดียวกัน นอกจากนี้พันธุ์ข้าว climate smart นี้ยังให้ผลิตผลสูง นักวิทยาศาสตร์อาวุโสยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากข้าวสายพันธุ์ climate smart

แหล่งข่าวจาก CRRI ระบุว่า CRRI อยู่ระหว่างการทดสอบข้าว climate smart จำนวน 6 สายพันธุ์ ในแปลงสาธิตซึ่งกระจายอยู่ในหลายเมือง เพื่อทดสอบผลิตผลภายใต้สภาพภูมิอากาศและสภาพดินที่แตกต่างกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้ เวลาในการทดสอบประมาณ 2 ปี ก่อนที่รัฐบาลจะอนุญาตให้นำข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ไปปลูกเพื่อการพาณิชย์

ทั้งนี้ หน่วยงานราชการในรัฐโอริสสา (Odisha) ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding, MoU) กับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute, IRRI) ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีผลิตผลสูงและต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เพื่อเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 พ.ย. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ