1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนนี้ ผลผลิตข้าวนาปีฤดูการใหม่ทยอยออกสู่ตลาดมาประมาณร้อยละ 40 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,804 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,276 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.85
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,722 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,742 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 26,570 บาท ราคาลดลงจากตันละ 27,430 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.14
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,970 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,930 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 809 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,876 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 842 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,925 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.92 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,049 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,237 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,253 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 16 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,028 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 367 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,043 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 15 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 356 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,707 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,723 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.56 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 16 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,135 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,972 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 163 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.6932 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2558/59 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 ว่าจะมีผลผลิต 473.798 ล้านตันข้าวสาร (705.9 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 478.285 ล้านตันข้าวสาร (713.1 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 1 จากปี 2557/58
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2558/59 ณ เดือนพฤศจิกายน 2558 ว่าผลผลิต ปี 2558/59 จะมี 473.798 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2557/58 ร้อยละ 1 การใช้ในประเทศจะมี 486.219 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.85 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.861 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.45 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 91.015 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 12.26
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา อิยิปต์ กายานา ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ กัมพูชา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล คาเมรูน จีน คิวบา กานา อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย โมแซมบิค ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ อียู ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักข่าว Financial Express รายงานว่า เกษตรกรพึงพอใจกับโครงการรับซื้อข้าวนาปีของรัฐบาล ที่ดำเนินการรับซื้อโดยบรรษัทอาหารแห่งอินเดีย (Food Corporation of India, FCI) และหน่วยงานราชการอื่นๆ ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 รัฐบาลได้รับซื้อข้าวปีการผลิต 2558/59 รวมกันปริมาณ 12.22 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เจ้าหน้าที่ของ FCI ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรขายข้าวให้กับรัฐบาลมากขึ้น คือ ราคาข้าวที่ตกต่ำทั่วประเทศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงอาหาร (Ministry of Food) เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถรับซื้อข้าวปีการผลิต 2558/59 ได้มากกว่าปริมาณเป้าหมาย 30 ล้านตัน
อนึ่ง รัฐบาลได้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำ (Minimum Support Price, MSP) ของข้าวขาวธรรมดาไว้ที่ 213 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (หรือราคาตันละ 7,603 บาท) และข้าวขาว เกรด 1 ไว้ที่ 219 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (หรือราคาตันละ 7,817 บาท)
ที่มา http://oryza.com
สำนักข่าว Bloomberg อ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของรองประธานาธิบดีว่า อินโดนีเซียอาจจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มเติม ถ้าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รองประธานาธิบดี ได้กล่าวในที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation, APEC) ณ เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ว่า อินโดนีเซียได้บรรลุข้อตกลงนำเข้าข้าวปริมาณ 1.5 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้าจากเวียดนาม 1 ล้านตัน และจากไทย 0.5 ล้านตัน เนื่องจากอินโดนีเซียประสบกับภาวะแห้งแล้ง อันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) ซึ่งการนำเข้าข้าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาข้าวสูงมากจนเกินไป
อนึ่ง ประธานาธิบดี ต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองและหลีกเลี่ยงการนำเข้าข้าว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียได้รับผลเสียหาย เนื่องจากภาวะแห้งแล้งที่ยาวนาน ทำให้ปริมาณสำรองข้าวลดลงและราคาข้าวสูงขึ้น ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนว่าปรากฏการณ์เอลนิโญ จะส่งผลกระทบจนถึงปลายเดือนมีนาคม 2559
ที่มา http://oryza.com
แหล่งข่าวในประเทศรายงานว่า กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development, MARD) เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ (Large-Scale Field Model, LSFM) ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เริ่มที่จะแสดงผลลัพธ์ให้เห็น โดยเฉพาะการผลิตข้าว ทั้งนี้ การส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรแบบแปลงใหญ่มีปริมาณ 3.4 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนโครงการฯ นอกจากนี้ พื้นที่การเกษตรรูปแปลงใหญ่ได้กลายเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและติดต่อระหว่างสถาบันเกษตรกรกับภาคเอกชน รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการให้บริการสาธารณะ
รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจสหกรณ์และการพัฒนาชนบท (Co-operative Economy and Rural Development) ระบุว่า มีบริษัทจำนวนหนึ่งได้ลงนามสัญญากับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีเสถียรภาพในการจัดหาปัจจัยการผลิตและการขายผลผลิต นอกจากนี้ การร่วมมือกันของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลิตผลและลดต้นทุนการผลิต
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง ระบุว่า การเกษตรแบบแปลงใหญ่ ยังเผชิญกับอุปสรรคอีกหลายประการ เช่น การขาดแคลนสินเชื่อสำหรับการลงทุนพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กระบวนการสำหรับให้ความช่วยเหลือที่ใช้เวลานาน และโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตที่ไม่ดี นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง ระบุว่า การเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้นเหมาะสำหรับการผลิตข้าว แต่ไม่เหมาะสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอื่น และแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงรูปแบบโครงการฯ
อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ในปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 67.5 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การผลิตข้าว 48.8 ล้านไร่
ที่มา http://oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 - 22 พ.ย. 2558--