1.1 การตลาด
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ
ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว
1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,691 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,804 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.96
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,706 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,722 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,075 บาท
ราคาลดลงจากตันละ 26,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.63
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,970 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.00
3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 787 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,942 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 809 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,876 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.72 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 934 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 587 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,841 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,237 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.34 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 396 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,101 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,028 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.10 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 73 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,817 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 356 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,707 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 110 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,101 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,135 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.5042 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม
แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า ข้าวเวียดนามหลายชนิดมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค เช่น สายพันธุ์ Ngoc do huong dua (ข้าวจะมีลักษณะคล้ายอัญมณีสีแดง และมีรสชาติคล้ายสับปะรด) Vibigaba (ข้าวกล้องอินทรีย์เมล็ดสั้น) และข้าวกล้องงอก เป็นต้น ข้าวดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก แม้ว่าราคาจะสูงกว่าข้าวหอมมะลิ เพราะผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ
ประธานบริษัท Loc Troi Group ผู้ผลิตข้าวสายพันธุ์ Vibigaba กล่าวว่า ข้าวชนิดนี้มีคุณสมบัติควบคุมโรคเบาหวานได้ และขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดแดงตีบ (Atherpsclerosis)
นอกจากนี้ บริษัท Vien Phu Trade and Production กำลังทำการส่งเสริมการตลาดให้กับข้าวกล้องอินทรีย์
ที่อ้างว่ามีคุณสมบัติรักษาระดับความดันโลหิต สามารถช่วยในการนอนหลับ และป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ที่มา http://oryza.com
ไนจีเรีย
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ไนจีเรียกำลังอยู่ระหว่างการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข้งให้กับอุตสาหกรรมการสีข้าว ซึ่งมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลใกล้จะบรรลุข้อตกลงกับจีนเกี่ยวกับการสร้างโรงสีข้าว ที่มีกำลังการผลิต 100 ตันต่อวัน จำนวน 40 แห่ง ซึ่งรัฐบาลจะนำเข้าเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างโรงสีข้าวจากจีน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการที่จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ธนาคารเอกชนกำหนด ร้อยละ 50
ทั้งนี้ ไนจีเรียเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และนำเข้าข้าวมากกว่าร้อยละ 50 ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายพึ่งพาการผลิตข้าวในประเทศและหยุดการนำเข้าข้าวภายใน 2 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ประมาณการว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 ไนจีเรียจะมีผลผลิตข้าวปริมาณ 2.709 ล้านตันข้าวสาร และนำเข้าประมาณ 3 ล้านตันข้าวสาร รองรับปริมาณความต้องการบริโภคประมาณ 6 ล้านตันข้าวสาร
ที่มา http://oryza.com
นิคารากัว
แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร (Institute of Agricultural Technology, INTA) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติต้านทานภาวะแห้งแล้งได้ นักวิจัยท่านหนึ่งของ INTA เปิดเผยว่า ข้าวสายพันธุ์นี้สามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดถึง 1,824 กิโลกรัมต่อไร่ และใช้เวลาในการเพาะปลูก 120 วัน
มีรายงานว่า ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ได้เริ่มนำไปปลูกในแปลงนาของเกษตรกรขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง Nueva Guinea เป็นพื้นที่ที่เปราะบางต่อภาวะแห้งแล้งและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ประมาณการว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 นิคารากัว จะมีผลผลิตข้าวปริมาณ 0.290 ล้านตันข้าวสาร และนำเข้าปริมาณ 0.070 ล้านตันข้าวสาร เพื่อรองรับปริมาณ
ความต้องการบริโภค 360 ล้านตันข้าวสาร
ที่มา http://oryza.com
บังคลาเทศ
แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า ผู้ประกอบการโรงสีข้าวเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าข้าวเป็นร้อยละ 30 จากอัตราภาษีเดิมร้อยละ 10 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร และผู้ประกอบการในประเทศ ผู้ประกอบการโรงสีข้าวยังเรียกร้องให้พิจารณาภาคการสีข้าวเป็นภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งการละเว้นภาษีเงินได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงสีข้าวร้องขอให้รัฐบาลยุติการออกใบอนุญาตประกอบการโรงสีข้าว เนื่องจากภาคการสีข้าวอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว
ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ได้ยื่นข้อเรียกร้องในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคม Bangladesh Auto Major and Husking Mills Owners Association โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหาร (Food Minister) กล่าวเป็นนัยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าข้าวเป็นร้อยละ 20 ทั้งนี้ รัฐบาลจะแจ้งการปรับอัตราภาษีอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลจะประกาศว่าธุรกิจการสีข้าวเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรประเภทหนึ่ง
โดยรัฐบาลรายงานว่า ระหว่างเดือนธันวาคม 2558 ถึงเดือนมีนาคม 2559 รัฐบาลมีแผนการรับซื้อข้าวนาปี ปีการผลิต 2558/59 ปริมาณ 200,000 ตันข้าวสาร ในราคาตันละ 388.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรักษาระดับราคาในประเทศ อย่างไรก็ดี เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มปริมาณการรับซื้อ
อนึ่ง รัฐบาลบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าข้าวร้อยละ 10 มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ภายหลังการนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556/57 (กรกฎาคม 2556 - มิถุนายน 2557) ที่ผ่านมา บังคลาเทศนำเข้าข้าวปริมาณ 374,560 ตัน แต่ในปีงบประมาณ 2557/58 ปริมาณนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านตัน
ที่มา http://oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 23 - 29 พ.ย. 2558--