ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2015 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 — มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษา เสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ

ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5) 3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับสัปดาห์ ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตฤดูกาลใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,690 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,691 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,589 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,706 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.51

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 25,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.5787 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกของปี 2559 รัฐบาลอาจจะไม่ต้องนำเข้าข้าว 1.3 ล้านตันข้าวสาร ตามแผนที่เคยกำหนดไว้ เนื่องจากผลผลิตข้าวภายในประเทศมีปริมาณมากกว่าที่เคยประมาณการไว้

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐบาลได้รับคำแนะนำให้นำเข้าข้าวปริมาณ 1.3 ล้านตัน ภายในครึ่งปีแรกของปี 2559 ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นจาก 500,000 ตัน ที่เคยได้รับอนุมัติแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนผลผลิตที่เสียหายจากไต้ฝุ่นและภาวะแห้งแล้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Philippine Statistics Authority, PSA) เปิดเผยข้อมูลประมาณการผลผลิต ข้าวเปลือกไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 มีปริมาณ 7.42 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา ส่วนประมาณการผลผลิตข้าวเปลือกทั้งปี 2558 มีปริมาณ 18.3 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.54 เมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวเปลือกของปี 2557 ซึ่งมีปริมาณ 18.97 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 4.38 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและสังคม ยังคงมีแสดงความกังวลต่อปริมาณผลผลิตของในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2559

ที่มา http://oryza.com

สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปเปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิต 2558/59 (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558)
ปริมาณนำเข้าข้าวสารของสหภาพยุโรประหว่างวันที่ 1 กันยายน 2558 - 24 พฤศจิกายน 2558 มีปริมาณ 260,547 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ข้าวจาปอนิกา (Japonica Rice) มีปริมาณนำเข้า 19,088 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และข้าวอินดิกา (Indica Rice) มีปริมาณนำเข้า 241,459 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวมากที่สุด โดยมีปริมาณนำเข้า 73,044 ตัน รองลงมา ได้แก่ ฝรั่งเศส (46,722 ตัน) เนเธอร์แลนด์ (29,674 ตัน) โปแลนด์ (16,880 ตัน) เยอรมัน (16,720 ตัน) โปรตุเกส (14,075 ตัน) อิตาลี (13,980 ตัน) และประเทศอื่นๆ (49,452 ตัน)

สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวระหว่างฤดูการเพาะปลูก 2558/59 ปริมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าข้าวระหว่างฤดูเพาะปลูก 2557/58 ซึ่งมีปริมาณนำเข้า 1.013 ล้านตัน

ที่มา http://oryza.com

อาร์เจนตินา

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาชุดใหม่ ที่จะเริ่มงานในวันที่ 10 ธันวาคม 2558

ได้เสนอนโยบายการเกษตรไว้หลายนโยบาย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าเกษตรภายในประเทศและตลาดโลก โดยข้อเสนอของรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณส่งออกและเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรในตลาดโลก และข้าวเป็นหนึ่งในสินค้าที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาสลกำหนดภาษีส่งออกข้าวอยู่ระหว่างร้อยละ 5-10

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีและข้อมูลแหล่งอื่นๆ ว่า นโยบายการเกษตรของรัฐบาล ประกอบด้วย การยกเลิกระบบใบอนุญาตส่งออกที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2549 การยกเลิกการใช้ราคาอ้างอิง การยกเลิกภาษีส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ และการปรับปรุงอัตราภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ดี การเสนอลดอัตราภาษีจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การลดภาษีส่งออกถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ โดยลดลงร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าภาษีส่งออกจะเป็นร้อยละ 0

ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 30 พ.ย. - 6 ธ.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ