เปิดผลโครงการเพาะเลี้ยงปลานิลครบวงจร สศก. เผย โครงการไปสวย แนะวางแผนระบบน้ำสู่มาตรฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2015 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลติดตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระบุ โครงการประสบผลสำเร็จ มีการพัฒนาทั้งด้านการผลิตและการแปรรูป ช่วยสร้างงานสร้างรายได้เพิ่มแก่ชุมชน แนะ วางแผนการจัดการระบบน้ำให้มีคุณภาพเหมาะสม สู่การรับรองฟาร์มมาตรฐานครบถ้วน ในอนาคต

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงปลานิลแบบครบวงจร ตามแผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิตสินค้าประมง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิลทั้งระบบ และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมทั้งแผนพัฒนาการผลิตแบบแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ในการนี้ สศก. ได้ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า มีการดำเนินการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งด้านการผลิตและการแปรรูป โดยมีการอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาฟาร์มเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชลบุรี จำกัด โดยเกษตรกรสามารถขายปลานิลขนาด 0.8 - 1 กิโลกรัม/ตัว ได้กิโลกรัมละ 50 บาท และทางกลุ่มกิจกรรมแปรรูป ยังได้ดำเนินการแก้ปัญหาราคาปลาที่มีขนาดเล็กที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยแปรรูปเป็นปลานิลแดดเดียว ขายได้ราคา 120 บาท/กิโลกรัม อีกทั้งยังเป็นการสร้างงานให้แก่แรงงานผู้สูงอายุในหมู่บ้านให้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานตามโครงการ พบว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ในด้านการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีระบบคลองส่งน้ำและคลองสำหรับทิ้งน้ำ อีกทั้งบ่อเลี้ยงของเกษตรกรอยู่ติดกัน ซึ่งเกษตรกรจะทยอยจับปลาที่ละบ่อเพื่อนำน้ำที่สูบออกไปพักไว้บ่อเพื่อนบ้านก่อน จึงอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคผ่านทางระบบน้ำได้ และที่ผ่านมาเกษตรกรจะประสบปัญหาปลาเป็นโรคตายในช่วงอากาศร้อนและเกิดความเสียหาย ทำให้ผลผลิตลดลง ดังนั้น ทางกลุ่มควรมีการวางแผนการจัดการระบบน้ำที่ใช้เลี้ยงและน้ำทิ้งที่จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพื่อให้น้ำมีคุณภาพเหมาะสมต่อการเลี้ยง ซึ่งจะทำให้ปลาของเกษตรกรมีอัตราการตายลดลง และนำไปสู่การรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP ให้ครบทุกแปลงในอนาคตต่อไป รองเลขาธิการ กล่าว

**********************************

ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ