เดินหน้าข้อตกลงปารีส ไทยร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ย้ำ ต้องไม่กระทบภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2015 13:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เดินหน้าข้อตกลงใหม่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ข้อตกลงปารีส สศก. ระบุ ไทยชูเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศ และสนับสนุนการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ มั่นใจ ไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนการผลิตของสินค้าภาคเกษตร

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงข้อตกลงใหม่ หรือ ข้อตกลงปารีส ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (Conference of Parties : COP21) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ประเทศสมาชิกเตรียมตัวต่อการบังคับใช้ตามข้อตกลงใหม่ดังกล่าว ที่จะเริ่มต้นภายในปี ค.ศ.2020 เพื่อให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคุมอุณหภูมิผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การดำเนินข้อตกลงใหม่ครั้งนี้ ประเทศสมาชิกต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศและสนับสนุนการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ โดยจะต้องไม่กระทบต่อการผลิตอาหารของโลก นอกจากนี้ ยังได้กำหนดกรอบการให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ข้างต้นนี้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย ซึ่งผลการประชุมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรที่สำคัญสามารถแบ่งออกเป็นสองประเด็นใหญ่ด้วยกัน คือ

ประเด็นแรก เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการปรับตัว (Adaptation)ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ประชุมให้ประเทศสมาชิกเร่งจัดทำแผนการปรับตัวแห่งชาติ (National Adaptation Plans: NAPs) ให้แล้วเสร็จ พร้อมนี้ ที่ประชุมได้กำหนดกรอบการจัดทำแผนปรับตัวแห่งชาติเพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทาง อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรของประเทศไทยซึ่งมีความเปราะบาง (Vulnerability) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นที่สอง การกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ตามข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Nationally Determined Contributions: INDCs) ที่แต่ละประเทศเสนอต่อที่ประชุม โดยที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันให้แต่ละประเทศสมาชิกต้องดำเนินงานตามเป้าหมายดังกล่าวตามที่ได้เสนอใน INDCs ของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเสนอเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ร้อยละ 20-25 จากกรณีปกติ โดยเป้าหมายดังกล่าวได้รวมการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรเข้าไว้ด้วย ดังนั้น ภาคเกษตรซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคขนส่งและการใช้พลังงาน จึงควรที่จะเตรียมตัวกำหนดแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแนวทางดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและต้นทุนการผลิตของสินค้าภาคเกษตร รวมทั้งจะต้องเป็นแนวทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้และความสามารถในการแข่งขันน้อย และที่สำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้านอาหารของประเทศด้วย

**********************************

ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ