ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 12, 2016 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,006 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,439 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.79

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,545 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,549 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,650 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.73

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 775 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,855 บาท/ตัน)

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,690 บาท/ตัน)

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,155 บาท/ตัน)

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,867 บาท/ตัน)

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,262 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.9417 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

สหรัฐอเมริกา

เว็บไซต์ oryza.com วิเคราะห์ว่า ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership, TPP) ให้สำเร็จภายในปี 2559 ได้เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ กระแสต่อต้านของวุฒิสภา (Congress) และความไม่แน่นอนของกรอบเวลาของการลงนาม

ประธานาธิบดีโอบามา ได้แสดงความต้องการที่จะลงนาม TPP ให้สำเร็จในปี 2559 แต่ฝ่ายวุฒิสภาแสดงท่าที

ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง TPP ในประเด็นข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตผลทางชีวภาพ (Provisions Relating to Biologics)

การบริการทางการเงิน (Financial Service) และอุตสาหกรรมยาสูบ (Tobacco) โดยที่ผู้นำเสียงข้างมากวุฒิสภา (Senate Majority Leader) ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเลื่อนการพิจารณา TPP ออกไป หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2559 อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีได้หารือกับประธานกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเงิน (Senate Finance Committee Chairman) และคณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้สังกัดพรรครีพับลิกัน (House Ways & Means Committee Republicans) แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจนได้

นักวิเคราะห์การเมืองหลายคน ได้แสดงทัศนะว่า สหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องเพิ่มข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับประเทศสมาชิก TPP มากขึ้น หากสหรัฐฯ ต้องการแก้ไขรายละเอียดใน TPP ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อสหรัฐฯ ขอแก้ไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีสหรัฐ-เกาหลีใต้ (U.S.-Korea Free Trade Agreement)

อย่างไรก็ดี รัฐบาลออสเตรเลียประกาศว่า จะไม่ยอมรับข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตผลทางชีวภาพที่เสนอโดยพรรค รีพลับลิกัน ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกังวลว่าการลงนาม TPP จะไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ สมาชิก TPP กลุ่มหนึ่งแสดงความประสงค์ที่จะลงนาม TPP ที่นิวซีแลนด์ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

ส่วนประเทศสมาชิก TPP ที่เหลือ มีความเห็นว่า การลงนามมีแนวโน้มที่จะเลื่อนออกไปจนกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะหาข้อยุติในประเด็นที่วุฒิสภาคัดค้านได้สำเร็จ

ที่มา http://oryza.com

กัมพูชา

สำนักข่าว Phnompenh Post รายงานว่า บริษัทจีน 3 แห่ง เสนอโครงการลงทุนสร้างโกดังสินค้าเพื่อการเก็บรักษาข้าว โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือคิดเป็น 14,377 ล้านบาท) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้พบกับตัวแทนของทั้ง 3 บริษัท เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้

ของการลงทุนสร้างโกดังสินค้าข้าวในจังหวัดพะตะบอง (Battambang) โพธิสัตว์ (Pursat) และ กำปงธม (Kampon Thom) ซึ่งตัวแทนของทั้ง 3 บริษัท ตกลงที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559

ด้านหัวหน้าโครงการฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งชาติ (Senior Advisor to the Supreme National Economic Council) ระบุว่า โครงการลงทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding, MoU) โดยรัฐบาลกัมพูชาขอกู้เงินจากรัฐบาลจีน มูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือคิดเป็น 10,783 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการสร้างโกดังสินค้าข้าว จำนวน 10 แห่ง สามารถเก็บข้าวได้ประมาณ 1.2 ล้านตันข้าวเปลือกหรือข้าวสาร อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ ก่อนอนุมัติโครงการ

ทั้งนี้ โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากโรงสีข้าวขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และตัวแทนโรงสีได้ให้คำแนะนำว่า โรงสีแห่งใหม่ๆ ควรจะติดตั้งเครื่องอบข้าวเปลือก เพราะจะสามารถลดความชื้นของข้าวสด เมื่อทำการสีแปรสภาพและจัดเก็บข้าวในรูปแบบของข้าวสาร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเพิ่มปริมาณและขยายตลาดส่งออกข้าว ได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ อนึ่ง ปริมาณโกดังเก็บข้าวที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน คือ สาเหตุหลักที่ทำให้เป้าหมายการส่งออกข้าวปริมาณ 1 ล้านตันข้าวสารต่อปี ของรัฐบาล ยังไม่สามารถเป็นจริงได้

ที่มา http://oryza.com

ฟิลิปปินส์

แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ระบุว่า มาตรการกำหนดปริมาณนำเข้าข้าว (Quantitative Restrictions, QRs) ยังมีความจำเป็นเพื่อเป็นการปกป้องเกษตรกรภายในประเทศจากการที่ราคาข้าวถูกกว่าจากต่างประเทศ แต่การขยายกรอบเวลาของมาตรการ QRs อาจจะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาล

รัฐบาลปัจจุบันอยู่ในระหว่างการขอขยายการใช้มาตรการ QRs ไปจนถึงปี 2560 เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขันกับข้าวจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเพิ่มปริมาณนำเข้าขั้นต่ำ (Minimum Access Volume, MAV) เป็น 805,200 ตันข้าวสารต่อปี จากปริมาณ MAV ของปีที่แล้ว 350,000 ตันข้าวสารต่อปี โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 40 สำหรับปริมาณนำเข้าข้าวภายใต้ปริมาณ MAV และอัตราภาษีร้อยละ 50 สำหรับปริมาณนำเข้าข้าวเกินปริมาณ MAV

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ระบุว่า มาตรการ QRs ยังมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การขยายมาตรการ QRs ไปถึงปี 2560 อาจจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาล นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่ามาตรการ QRs ในปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณนำเข้าข้าวมีปริมาณน้อย และทำให้ข้าวในประเทศมีราคาสูง ซึ่งรัฐมนตรีให้ความเห็นส่วนตัวว่า รัฐบาลควรใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ช่วยเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดข้าวโลก แทนที่จะขยายการช่วยเหลือด้วยการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว เลขาธิการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ (Economic Planning Secretary) แสดงความกังวลว่า ผลได้จากการปกป้องเกษตรกรด้วยระบบ QRs จะไม่คุ้มค่ากับผลเสียที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่มากกว่าร้อยละ 10 (คนที่มีรายได้น้อยใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับค่าอาหาร) ซึ่งมากกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีค่าร้อยละ 5

ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 4 - 10 ม.ค. 59--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ