ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2016 15:01 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ

ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการส่งออกต้องการข้าวเพื่อทยอยส่งมอบ ให้กับประเทศคู่สัญญา

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,876 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,857 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,844 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,824 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,650 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,290 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 804 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,295 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 795 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,185 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.13 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 110 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,362 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,272 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 90 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,655 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,578 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.31 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 77 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,267 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,224 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 43 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,760 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,685 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.30 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 75 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1923 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สถานการณ์ราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเริ่มลดลง ท่ามกลางภาวะการค้าที่ชะลอตัว ขณะที่ผู้ซื้อชะลอ การสั่งซื้อในช่วงนี้ เพราะคาดว่าหลังผ่านพ้นเทศกาลเต๊ด เหวียน ด่าน (Tet Nguyen Dan: Tet) (ช่วงวันที่ 6 -14 ก.พ.) จะมีผลผลิตข้าวฤดูใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวอ่อนตัวลงอีก โดยในขณะนี้ราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% อยู่ที่ 350-355 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และข้าวขาว 25% อยู่ที่ 330-340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปัจจุบันราคาข้าวของเวียดนามกลับมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าข้าวไทยอีกครั้ง โดยมีช่วงห่างกันประมาณ 15-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยดึงความสนใจของผู้ซื้อให้หันกลับมาสนใจข้าวเวียดนามมากขึ้น

สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-31 มกราคม 2559 มีจำนวน 416,770 ตัน มูลค่า 169.829 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.1 และร้อยละ 71.7 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 220,388 ตัน มูลค่า 98.885 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปี 2558 ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 6.568 ล้านตัน มูลค่า 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ส่งออกได้ 6.316 ล้านตัน มูลค่า 2,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปี 2558 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 6.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับจำนวน 6.32 ล้านตัน ในปี 2557 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญประกอบด้วย ตลาดเอเชีย จำนวน 5.17 ล้านตัน (คิดเป็นร้อยละ 78 ของการส่งออกทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับจำนวน 4.92 ล้านตัน

ในปี 2557 รองลงมาคือ ตลาดแอฟริกา จำนวน 784,782 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 12 ของการส่งออกทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับ จำนวน 772,537 ตัน ในปี 2557 ตลาดอเมริกา จำนวน 485,697 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับ จำนวน 438,197 ตัน ในปี 2557 ตลาดออสเตรเลีย จำนวน 57,933 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับ จำนวน 52,960 ตัน ในปี 2557 ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 113,480 ตัน ลดลง

ร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 137,595 ตัน ในปี 2557 สำหรับในเดือนธันวาคม 2558 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 504,651 ตัน ลดลงร้อยละ 33.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 756,425 ตัน ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา

แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 366,130 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557 ตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนธันวาคม 2558 ประกอบด้วย ตลาดเอเชีย จำนวน 435,780 ตัน รองลงมา คือ ตลาดแอฟริกา จำนวน 27,337 ตัน

ตลาดอเมริกา จำนวน 34,770 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 4,251 ตัน และตลาดออสเตรเลีย จำนวน 2,513 ตัน ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม 2558 เวียดนาม ส่งออกข้าวขาว 5% จำนวน 110,255 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) 66,261 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 184,808 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 73,342 ตัน ข้าวเหนียว 48,374 ตัน ข้าวขาว 10% 100% และข้าวชนิดอื่นๆ รวม จำนวน 21,611 ตัน

ขณะนี้เกษตรกรในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงทางภาคใต้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (winter spring rice crop) ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตข้าวลดลงและราคาข้าวเปลือกตกต่ำ เนื่องจากในช่วงการเพาะปลูกเกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง และปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งการระบาดของแมลง

ศัตรูพืช ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาข้าวเปลือกในปี้นี้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4,600 ดองต่อกิโลกรัม ทำให้กำไรจากการขายผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (the Myanmar Rice Federation; MRF) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเรื่อง การเก็บสำรองข้าวสำหรับปีนี้ท่ามกลางภาวะผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่คาดว่าจะมีผลไปจนถึงช่วงกลางปี โดย MRF ได้แนะนำให้รัฐบาลเก็บสำรองข้าวไว้ประมาณ 200,000 ตัน ทั้งนี้ MRF ให้เหตุผลว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนคาดว่าจะส่งผลต่อการเพาะปลูกข้าวไปจนถึงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสำรองข้าวเก็บไว้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการพิจารณาด้านงบประมาณสำหรับโครงการนี้ด้วย ปัจจุบัน ราคาข้าวในประเทศพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากการส่งออกข้าวทางแนวชายแดนไปยังประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน โดยราคาข้าวขยับเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จากเดิมที่ราคาอยู่ประมาณ 270-290 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน รองประธานสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (MRF) คาดว่า ในช่วงนี้มีการส่งออกข้าวผ่านทางชายแดนประมาณ วันละ 4,000-5,000 ตัน ทำให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้น แต่หลังผ่านเทศกาลไปแล้วราคาข้าวอาจจะปรับลดลงสู่ระดับปกติ ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรก (เม.ย. 58-ม.ค. 59) ของปีงบประมาณปัจจุบัน (เม.ย. 58-มี.ค. 59) เมียนมาร์ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 830,000 ตัน ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

อินโดนีเซีย

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร (The Indonesian Agriculture Minister) ได้ปฏิเสธเรื่องของการนำเข้าข้าวในปี 2559 เนื่องจากขณะนี้อินโดนีเซียมีสต็อกข้าวประมาณ 1.2 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอกับความต้องการแล้ว นอกจากนี้ยังมีผลผลิตข้าวที่รอเก็บเกี่ยวภายในเดือนกุมภาพันธ์อีกประมาณ 3.5 ล้านตัน พร้อมทั้งตั้งความหวังว่าในปีนี้ผลผลิตข้าวเปลือกจะมีมากกว่าปีที่ผ่านมา และรัฐบาลจะรักษาระดับราคาข้าวในประเทศให้มีเสถียรภาพ โดยให้หน่วยงาน BULOG ของอินโดนีเซีย (Indonesia's state logistics agency) เข้ามารับซื้อข้าวจากเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกไว้ที่ 3,700 รูเปี๊ยะต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 273 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 9,607 บาทต่อตัน) ส่วนข้าวสารกำหนดไว้ที่ 7,300 รูเปี๊ยะต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 538 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ประมาณ 18,933 บาทต่อตัน) ซึ่งราคานี้ยังคงต่ำกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ดังนั้นเกษตกรจึงไม่นิยมนำข้าวมาขายให้แก่รัฐบาล

ที่มา Oryza.com

จีน

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (the National Development and Reform Commission; NDRC) ได้ประกาศราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำสำหรับปี 2559 โดยข้าวต้นฤดูพันธุ์อินดิกา (early season indica rice) กำหนดไว้ที่ 2,660 หยวนต่อตัน (ประมาณ 404 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 14,218 บาทต่อตัน) ลดลงจาก ราคาในปี 2558 ที่กำหนดไว้ที่ 2,700 หยวนต่อตัน (ประมาณ 410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 13,941 บาทต่อตัน) ส่วนข้าวกลางฤดูถึงปลายฤดูพันธุ์อินดิกา (mid to late season indica rice) กำหนดไว้ที่ 2,760 หยวนต่อตัน (ประมาณ 420 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 14,781 บาทต่อตัน) เท่ากับปี 2558 และข้าวพันธุ์จาปอนิกา (japonica rice กำหนดไว้ที่ 3,100 หยวนต่อตัน (ประมาณ 471 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 16,576 บาทต่อตัน) เท่ากับปี 2558 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ รัฐบาลได้เริ่มโครงการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2547 โดยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่แต่ละมณฑลกำหนด หากราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้

ที่มา Oryza.com

ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงการเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น ได้ประกาศเป้าหมายการผลิตข้าวประจำปีงบประมาณ 2559 (เม.ย. 59-มี.ค. 60) ไว้ที่ 7.43 ล้านตัน ลดลง 80,000 ตันเมื่อ เทียบกับปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นการปรับลดลง 7 ปีติดต่อกัน เป้าหมายการผลิตนี้เป็นเสาหลักของมาตรการลดพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อลดปริมาณข้าวในตลาด และรักษาราคาข้าวให้คงที่ โดยรัฐบาลกลางจะกำหนดเป้าหมายแต่ละปี และสั่งการไปยังแต่ละจังหวัด ซึ่งเกษตรกรที่ทำสำเร็จตามเป้าหมายจะได้รับเงินช่วยเหลือมูลค่า 7,500 เยน ต่อ 1 อาร์ (1 อาร์เท่ากับ 100 ตารางเมตร) แม้ว่าตั้งแต่เริ่มระบบดังกล่าวในปี 2547 ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ แต่ปริมาณการผลิตข้าวในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 7.44 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นครั้งแรกที่ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ที่ 7.51 ล้านตัน โดยสาเหตุหลักคือเกษตรกรหันไปผลิตข้าวเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์แทนข้าวสำหรับบริโภค จากการบริหารปริมาณการผลิตดังกล่าว ทำให้ราคาข้าวขยับสูงขึ้น โดยราคาข้าวประจำปีงบประมาณ 2558 ณ ปลายเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ 13,108 เยน ต่อ 60 กิโลกรัม ซึ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับราคาข้าวประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งมีราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดีรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการการลดพื้นที่การปลูกข้าวในปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากมาตรการดังกล่าวทำให้ความประสงค์ของเกษตรกรที่อยากเพิ่มการผลิตลดลง และเมื่อความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership-TPP) มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีข้าวต่างประเทศที่มีราคาถูกหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่น รัฐบาลจึงต้องการผลักดันให้เกษตรกรรายใหญ่และภาคธุรกิจเข้าร่วมแข่งขันในตลาด โดยการยกเลิกมาตรการลดพื้นที่การปลูกข้าว เพื่อเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวญี่ปุ่นให้สูงขึ้น

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ