1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,744 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,876 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.22
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,894 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,844 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.63
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,570 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,110 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 799 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,224 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 804 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,295 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62 และสูงขึ้นในลดลงนบาทตันละ 71 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 597 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,088 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,362 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.65 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 274 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,494 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,655 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.55 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 161 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,141 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,267 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.33 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 126 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,706 บาท/ตัน)
ราคาลดลงจากตันละ 391 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,760 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 54 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3241 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2558/59 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่าจะมีผลผลิต 469.501 ล้านตันข้าวสาร (699.9 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 478.138 ล้านตันข้าวสาร (712.8 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 1.81 จากปี 2557/58
บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2558/59 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ว่าผลผลิต ปี 2558/59 จะมี 469.501 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2557/58 ร้อยละ 1.81 การใช้ในประเทศจะมี 483.677 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.34 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.593 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.16 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 89.284 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.70
โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา เมียนมาร์ จีน อิยิปต์ ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล กัมพูชา กายานา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล คาเมรูน จีน กานา อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น โมแซมบิค ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อียู และไนจีเรีย
ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สหภาพยุโรปได้เผยแพร่ รายละเอียดของความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (The European Union (EU) - Vietnam Free Trade Agreement; FTA) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยข้อตกลงทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้หลังจากมีการตรวจสอบตามกฎหมายและการให้สัตยาบันโดยคณะมนตรี แห่งสหภาพยุโรปและรัฐสภายุโรปแล้ว ทั้งนี้ EU จะยกเลิกภาษีนำเข้าข้าวจากเวียดนามในปริมาณ 80,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวกล้อง 20,000 ตัน ข้าวสาร 30,000 ตัน และข้าวหอม 30,000 ตัน ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ จะค่อยๆ ปรับลดลงภายในระยะเวลา 5 ปี โดยชนิดข้าวหอมที่ได้รับสิทธิพิเศษภาษี 0% ประกอบด้วย ข้าวหอมสายพันธุ์ Jasmine 85, ST 5, ST 20, Nang Hoa 9 (N?ng Hoa 9), VD 20, RVT, OM 4900, OM 5451, Tai nguyen Cho Dao
สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-31 มกราคม 2559 มีจำนวน 416,770 ตัน มูลค่า 169.829 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.1 และร้อยละ 71.7 ตามลำดับ
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 220,388 ตัน มูลค่า 98.885 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปี 2558 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 6.568 ล้านตัน มูลค่า 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ส่งออกได้ 6.316 ล้านตัน มูลค่า 2,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายกสมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) กล่าวว่า การที่รัฐบาลไทยได้เปิดประมูลข้าวในสต็อกช่วงนี้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะดึงราคาข้าวให้ตกลง และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการส่งออกข้าวเวียดนาม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะส่งเสริมการส่งออกข้าวในตลาดดั้งเดิมของเวียดนาม เช่น จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ข้าวของเวียดนามก็ยังคงสามารถแข่งในตลาดเหล่านั้นได้ เพราะเวียดนามมองว่าไทยมีปริมาณข้าวน้อยกว่าความต้องการจากประเทศเหล่านั้นที่ต้องการนำเข้าข้าวสูง ขณะที่ประธานกลุ่มบริษัท Loc Troi กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามยังมีโอกาสที่จะเสนอข้าวใหม่ให้แก่ตลาดเหล่านั้น โดยในปีนี้สมาคมจะมุ่งความสนใจไปที่การส่งเสริมการส่งออกให้แก่ตลาดดั้งเดิม และประเทศที่อยู่ในแถบภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มการส่งออกข้าวหอมไปยังฮ่องกง และสิงคโปร์ นอกจากนั้น สมาคมจะหาแนวทางในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมในแอฟริกาและค่อยๆ กู้คืนตลาดข้าวขาว โดยพยายามดำเนินการเพื่อให้ข้าวของประเทศสามารถบุกไปยังตลาดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีข้อตกลง
เขตการค้าเสรีกับเวียดนาม และมุ่งเน้นที่การสร้างมูลค่า และตราสินค้าให้แก่ข้าวของประเทศ อนึ่ง VFA คาดว่า การส่งออกข้าวในปีนี้ (ไม่รวมการค้าบริเวณชายแดน) จะยังคงอยู่ที่ 6.5 ล้านตันเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาที่ทำรายได้ 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่าลดลงร้อยละ 3.94) โดยประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 74.5 ของการส่งออก รองลงมาคือ แอฟริกา มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13.77 และสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.72
ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทร่วมทุนนำเข้า-ส่งออก อานซยาง มีความเห็นว่า ในปีนี้มีความเสี่ยงที่ราคาข้าวจะลดลงเพื่อแข่งกับข้าวของไทย แต่ตลาดโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายการดำเนินการเกี่ยวกับข้าวของรัฐบาลไทย พร้อมทั้งกล่าวว่า ตลาดเอเชียมีความต้องการข้าว แต่เวียดนามต้องเผชิญต่อการแข่งขันอย่างหนักจากไทย และปากีสถาน ขณะที่การส่งออกข้าวหอม และข้าวคุณภาพสูงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้ เนื่องจากมีความต้องการสูงจากตลาดจีน และแอฟริกา และยังเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มการตรวจสอบคุณภาพการส่งออกเพื่อรักษาชื่อเสียงของประเทศและขายให้แก่ตลาดที่ต้องการ ขณะเดียวกันสมาคมอาหารเวียดนามควรจัดหาข้อมูลการคาดการณ์ตลาดที่ทันสมัยให้แก่กิจการต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลควรดำเนินการปราบปรามการใช้สารเคมีในการผลิตข้าวด้วย
ที่มา Oryza.com
กลุ่มผู้ส่งออกข้าวกัมพูชาต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่เวียดนามได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (the EU - Vietnam Free Trade Agreement; FTA) ที่จะมีผลในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชา เพราะชนิดข้าวของเวียดนามและกัมพูชาใกล้เคียงกัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตของเวียดนามต่ำกว่ากัมพูชามาก วงการค้ากัมพูชาคาดว่ากัมพูชาสามารถที่จะแข่งขันในตลาดข้าวอินทรีย์ ข้าวนึ่ง และข้าวหอมได้ แต่ในส่วนของข้าวขาวนั้นยังน่าเป็นห่วง
สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 ชุด เพื่อศึกษา เกี่ยวกับการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยจะเน้นไปที่การลดต้นทุน การผลิตและการเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 448 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 512 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะเดียวกันมีการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบชลประทาน การจัดการเกี่ยวกับโรงสีและผู้ส่งออกให้สามารถรับซื้อข้าวจาก เกษตรกรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวได้ รวมถึงเรื่องของการเพิ่มจำนวนของไซโลเก็บข้าวและคลังสินค้า
สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export; SOWS-REF) รายงานว่าในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าว 44,033 ตัน ลดลงร้อยละ 45.9 เมื่อเทียบกับ จำนวน 81,479 ตัน ในเดือนธันวาคม 2558 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 35,921 ตัน ในเดือนมกราคม 2558
สำหรับชนิดข้าวที่กัมพูชาส่งออกในเดือนมกราคม 2559 ประกอบด้วย ข้าวหอมในกลุ่ม Jasmine Rice (PML/PRD) จำนวน 14,672 ตัน ข้าวหอมชนิดอื่นๆ (Fragrant rice) เช่น Senkraob, Neangsauy, Neang Malis, Somaly, Jassmine organic rice จำนวนรวม 8,351 ตัน (ข้าวหอมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.3 ของปริมาณ ส่งออกทั้งหมด) ข้าวขาว (long grain white rice) และข้าวขาวชนิดพิเศษ (Premium long grain) จำนวนรวม 18,755 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.6 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) และข้าวนึ่ง (long grain parboiled) จำนวน 2,255 ตัน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.1 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) โดยส่งออกข้าวไปยัง 35 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีน จำนวน 6,999 ตัน ฝรั่งเศส จำนวน 6,386 ตัน โปแลนด์ จำนวน 5,538 ตัน โรมาเนีย จำนวน 2,764 ตัน มาเลเซีย จำนวน 2,736 ตัน เนเธอร์แลนด์ จำนวน 2,503 ตัน สหราชอาณาจักร จำนวน 2,074 ตัน บรูไน จำนวน 1,974 ตัน อิตาลี จำนวน 1,912 ตัน เยอรมนี จำนวน 1,631 ตัน ฮังการี จำนวน 1,300 ตัน สาธารณรัฐเชค จำนวน 1,232 ตัน และเบลเยี่ยม จำนวน 1,017 ตัน เป็นต้น
ปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 538,396 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 387,061 ตัน ในปี 2557 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญคือ ประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีน จำนวน 116,639 ตัน ฝรั่งเศส จำนวน 75,257 ตัน โปแลนด์ จำนวน 58,410 ตัน มาเลเซีย จำนวน 54,914 ตัน เนเธอร์แลนด์ จำนวน 58,410 ตัน อิตาลี จำนวน 24,049 ตัน สาธารณรัฐเชค จำนวน 22,597 ตัน เบลเยี่ยม จำนวน 19,921 ตัน สหราชอาณาจักร จำนวน 18,557 ตัน เยอรมนี จำนวน 13,076 ตัน สเปน จำนวน 10,382 ตัน โปรตุเกส จำนวน 10,312 ตัน สิงคโปร์ จำนวน 5,587 ตัน บรูไน จำนวน 2,100 ตัน และอินโดนีเซีย จำนวน 1,000 ตัน เป็นต้น
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2559 (ม.ค.-ธ.ค.) คาดว่ากัมพูชาจะส่งออกข้าวประมาณ 0.8 ล้านตันข้าวสาร (ซึ่งรวมตัวเลขที่ส่งออกอย่างเป็นทางการและการส่งออกตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทยและเวียดนาม) ลดลงประมาณร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.1 ล้านตัน ที่คาดว่ามีการส่งออกใน ปี 2558 ที่ผ่านมา
ที่มา Oryza.com
ข้อมูลจากสหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 ก.ย. 58 -31 ส.ค. 59) มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 – 2 กุมภาพันธ์ 2559 EU นำเข้าข้าวแล้วประมาณ 496,804 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจำนวน 422,639 ตัน ในช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 36,092 ตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 38,304 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้าประมาณ 460,712 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับจำนวน 384,335 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 – 26 มกราคม 2559 มีการนำเข้าประมาณ 118,198 ตัน รองลงมาคือ ฝรั่งเศส จำนวน 86,807 ตัน เนเธอร์แลนด์ จำนวน 57,261 ตัน โปแลนด์ จำนวน 36,136 ตัน อิตาลี จำนวน 34,041 ตัน เยอรมนี จำนวน 37,654 ตัน และประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม จำนวน 126,707 ตัน
ในปีการผลิต 2557/58 (ก.ย. 57 -ส.ค. 58) สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.013 ล้านตัน ในปีการผลิต 2556/57
ที่มา Oryza.com
สถาบัน The Rice Institute of Rio Grande do Sul (IRGA) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2559 บราซิลส่งออกข้าวประมาณ 96,050 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับจำนวน 69,913 ตัน ในเดือนมกราคม 2558 แต่ลดลงร้อยละ 33 เมื่อเทียบจำนวน 144,525 ตัน ในเดือนธันวาคม 2558 โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในเดือนมกราคม ประกอบด้วย เซเนกัล จำนวน 38,602 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกในเดือน ม.ค. 2559) นิคารากัว จำนวน 24,480 ตัน เปรู จำนวน 11,065 ตัน เวเนซูเอล่า จำนวน 6,305 ตัน เบลเยี่ยม จำนวน 2,613 ตัน และชิลี จำนวน 2,265 ตัน เป็นต้น
ปี 2558 ที่ผ่านมา บราซิลส่งออกข้าวประมาณ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.24 ล้านตันในปี 2557
องค์การธัญพืชแห่งชาติ (Brazil’s National Grains Supply Company; Conab) คาดการณ์ว่า ในปีการผลิต 2558/59 จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 11.5 ล้านตัน หรือประมาณ 8.2 ล้านตันข้าวสาร ลดลงร้อยละ 7.7
เมื่อเทียบกับจำนวน 12.444 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 8.6 ล้านตันข้าวสาร ในปีการผลิต 2557/58 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง โดยในปีการผลิต 2558/59 นั้น คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกจะลดลงเหลือ 13.29 ล้านไร่ลดลงร้อยละ 7.4 จากปีการผลิต 2557/58
ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่าในปีการตลาด 2558/59 (เม.ย. 58 - มี.ค. 59) ผลผลิตข้าวเปลือกคาดว่าจะมีประมาณ 11.765 ล้านตัน หรือประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับ จำนวน 12.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 8.5 ล้านตันข้าวสาร ในปีการผลิต 2557/58 และคาดว่าในปี 2559 นี้จะมีการส่งออกประมาณ 1 ล้านตัน และนำเข้าประมาณ 450,000 ตัน
ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2559--