ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2016 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)

(3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)

(4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก (คน.) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด และมีผลผลิตบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพข้าวไม่ดีเท่าที่ควร

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,691 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,796 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,748 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,943 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.11

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,290 บาท

ราคาลดลงจากตันละ 24,450 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 791 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,786 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 785 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,763 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76 และสูงขึ้นในรูปเงินเงินบาทตันละ 23 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,147 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,150 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 3 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,454 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,440 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 14 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,103 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 371 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,121 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.54 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,524 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,652 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 128 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1281 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ลาว

ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและความร่วมมือ กระทรวงเกษตรและป่าไม้ (the Director of the Department of Planning and Cooperation under the Lao Ministry of Agriculture and Forestry) ระบุว่า รัฐบาล สปป.ลาว ตั้งเป้าหมายในการส่งออกข้าวในปีนี้ไว้ที่ 1 ล้านตัน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2558/59 ไว้ที่ 4.2 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งรวมถึงการผลิตข้าวเพื่อเป็นสต็อกสำรองประมาณ 40,000 ตัน และใช้เป็นเมล็ดพันธุ์อีกประมาณ 60,000 ตัน ขณะเดียวกันก็รับประกันว่าจะมีผลผลิตข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศประมาณ 2.1 ล้านตัน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเป็น 6.25 ล้านไร่ และนาในที่สูงอีกประมาณ 6.25 แสนไร่

ในปีนี้ สปป.ลาวประสบความสำเร็จในการเริ่มส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนเป็นล็อตแรก ประมาณ 8,000 ตัน โดยในทุกๆ ปีที่ผ่านมา มีการลักลอบส่งออกข้าวเปลือกไปยังประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 300,000-400,000 ตัน ขณะที่ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2559 (ม.ค.-ธ.ค.) ลาวจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 2.778 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 1.750 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกมีประมาณ 5.78 ล้านไร่

ที่มา Oryza.com

กัมพูชา

กลุ่มผู้ส่งออกข้าวและโรงสีข้าวได้ร่วมกันทำหนังสือส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลออก มาตรการรับมือกับภาวะการส่งออกข้าวในปัจจุบันที่กัมพูชากำลังเผชิญอยู่ โดยกลุ่มผู้ส่งออกข้าวและโรงสีข้าวได้เตือนรัฐบาลว่าหากไม่รีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจจะทำให้พวกเขาต้องประสบภาวะล้มละลาย ซึ่งในขณะนี้ มีผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออกข้าวหลายรายได้ออกจากธุรกิจนี้ไปแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลอาจจะยังไม่รู้หรือยังไม่เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไม่มีใครเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ การแข่งขันในตลาดเป็นไปอย่างรุนแรง และการที่เวียดนามได้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam FTA) ทำให้เวียดนามได้โควต้าส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปในอัตราภาษี 0% ได้ถึง 80,000 ตันต่อปี เท่ากับเป็นการแย่งตลาดของกัมพูชาซึ่งตลาด EU ถือเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการระบายข้าวจากสต็อกรัฐบาลออกมา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของกัมพูชาด้วย

เนื้อหาในหนังสือยังระบุถึงการที่ในปัจจุบันมีการนำเข้าข้าวราคาถูกจากเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นและเกษตรกรประสบกับความเดือนร้อนอย่างมาก ดังนั้นกลุ่มผู้ส่งออกและโรงสีจึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพื่อปกป้องเกษตรกรของกัมพูชา นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาแหล่งเงินทุนเข้ามาในธุรกิจนี้ เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสีข้าวและคลังเก็บสินค้า รวมทั้งการจัดหาเงินทุนสำหรับโรงสีเพื่อใช้ในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้มากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ มีรายงานว่ากระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องแล้ว และรับปากที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ปัญหาและรายละเอียดของงบประมาณที่จะนำมาใช้

สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export; SOWS-REF) รายงานว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กัมพูชาส่งออกข้าว 51,912 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจำนวน 44,033 ตัน ในเดือนมกราคม 2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับจำนวน 37,676 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ส่วนการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-ก.พ.) กัมพูชาส่งออกข้าว 95,945 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบ กับจำนวน 73,549 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยส่วนใหญ่กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีน 20,436 ตัน ฝรั่งเศส 12,454 ตัน โปแลนด์ 10,784 ตัน มาเลเซีย 6,002 ตัน เนเธอร์แลนด์ 4,636 ตัน และสหราชอาณาจักร 4,586 ตัน เป็นต้น

ในปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 538,396 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 387,061 ตัน ในปี 2557 โดยตลาดที่สำคัญคือประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีน 116,639 ตัน ฝรั่งเศส 75,257 ตัน โปแลนด์ 58,410 ตัน มาเลเซีย 54,914 ตัน เนเธอร์แลนด์ 58,410 ตัน อิตาลี 24,049 ตัน สาธารณรัฐเชค 22,597 ตัน เบลเยี่ยม 19,921 ตัน สหราชอาณาจักร 18,557 ตัน เยอรมนี 13,076 ตัน สเปน 10,382 ตัน โปรตุเกส 10,312 ตัน สิงคโปร์ 5,587 ตัน บรูไน 2,100 ตัน และอินโดนีเซีย 1,000 ตัน เป็นต้น

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2559 (ม.ค.-ธ.ค.) คาดว่ากัมพูชาจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 0.8 ล้านตันข้าวสาร (ซึ่งรวมตัวเลขที่ส่งออกอย่างเป็นทางการและการส่งออกตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทยและเวียดนามด้วย) ลดลงประมาณร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.1 ล้านตัน ที่มีการส่งออกในปี 2558

ที่มา Oryza.com

จีน

International Grains Council (IGC) คาดการณ์ว่าฤดูกาล 2558/59 จีนจะผลิตข้าวได้ 145.7 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยผลผลิตข้าวของจีนในปี 2558 มีปริมาณ 145 ล้านตัน คาดการณ์ว่าจีนจะนำเข้าข้าวประมาณ 4.8 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการข้าวในประเทศมีประมาณ 149.8 ล้านตัน และมีข้าวในสต็อกประมาณ 52.1 ล้านตัน ประกอบกับแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของจีนอยู่ในหลายพื้นที่ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในมณฑลเฮยหลงเจียง จี๋หลิน เหลียวหนิง และภาคใต้มีแหล่งผลิตหลายแห่ง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของจีนไม่ขาดแคลน

ทั้งนี้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวพันธ์เมล็ดสั้น (Gengmi) ส่วนทางภาคใต้ของจีนเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเมล็ดยาว (Xianmi) และจากการคาดการณ์ หากเกิดภัยแล้งขึ้นทางตอนเหนือ รัฐบาลจีนจะผันน้ำจากตอนใต้เพื่อปรับสมดุลไปยังที่ต่างๆ ที่เกิดภาวะแห้งแล้ง และได้สร้างระบบชลประทานรองรับไว้แล้ว เพื่อระบายน้ำช่วยเหลือแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจีนที่ประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของจีน ภัยหนาวซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้ก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน มีรายงานว่า จีนวางแผนขยายการนำเข้าข้าวจากประเทศเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ในต้นปี 2559 ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ส่งออกข้าว ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุด และยังเคยเป็นผู้ส่งออกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่จากความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนประเภทจากเกษตรกรรมเป็นการเน้นภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลให้จีนมีความต้องการนำเข้าข้าวสารเพิ่มสูงขึ้น โดยหลังจากปี 2554 ที่จีนเริ่มเปิดประเทศและอนุมัติการนำเข้าข้าวสารจากประเทศอาเซียน อาทิ เวียดนาม ไทย เมียนมาร์ ปากีสถาน และกัมพูชา ส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าข้าวสารสูงเกินกว่าตัวเลขการส่งออกเป็นครั้งแรก โดยใน ปี 2554 จีนนำเข้าข้าวสาร 569,000 ตัน และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 3.35 ล้านตันในปี 2558

พนักงานขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่าข้าวสารที่นำเข้าได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะข้าวสารนำเข้าจากประเทศอาเซียน

จากการรายงานของ www.chinagrain.cnพบว่า ข้าวสาร ข้าวสาลี และข้าวโพด คือ 3 ธัญพืชหลักสำหรับการบริโภคของชาวจีน โดยในอดีตผลผลิตข้าวสารมีปริมาณมากกว่าข้าวสาลีและข้าวโพดอยู่มาก แต่หลังจากปี 2558 ปริมาณผลผลิตข้าวสารลดน้อยลง โดยมีปริมาณการผลิตมันฝรั่งเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ปี 2558-2559 การบริโภคข้าวสารของโลกจะสูงขึ้นเป็น 483.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศจีนราว 100 ล้านตันต่อปี

นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Social Sciences หรือ CASS) กล่าวว่า เหตุผลหลักที่จีนต้องการนำเข้าข้าวสารจากต่างประเทศเป็นเพราะต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำกว่าข้าวสารในประเทศ นอกจากนี้ยังมีความต้องการข้าวสารสายพันธุ์อื่นที่แตกต่างจากสายพันธุ์ที่ผลิตได้ในประเทศ แต่คาดว่าการนำเข้าข้าวสารจากเกาหลีใต้จะอยู่ในปริมาณน้อยเพราะราคาของข้าวสารเกาหลีใต้ยังไม่สามารถแข่งขันกับข้าวสารอื่นๆ ในตลาดได้ส่วนการนำเข้าข้าวสารจากสหรัฐอเมริกานั้น อาจต้องเผชิญความท้าทายในเรื่องของรสชาติว่าจะถูกปากชาวจีนหรือไม่ พร้อมทั้งเห็นว่า อุตสาหกรรมข้าวสารในประเทศจีนยังคงเผชิญปัญหาการผลิตล้นตลาด เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและการเพาะปลูกไม่ทันสมัย นับเป็นจุดอ่อนที่ต้องได้รับการปรับปรุง ภาครัฐควรให้ความสนใจกับราคาตลาดข้าวสารในประเทศ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากข้าวสารนำเข้าซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ข้าวสารจีนไม่ได้จัดเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพสูงสุด ผู้บริโภคชาวจีนหลายรายกลับเลือกบริโภคข้าวสารจากไทยและกัมพูชา เพราะความหอมนุ่มของข้าวหอมมะลิที่ไม่สามารถหาได้ในข้าวสารจีน แต่หากมองในภาพรวมแล้วข้าวสารไทยส่วนใหญ่ที่มีราคานำเข้าต่ำ ก็ไม่ได้มีคุณภาพเทียบเท่ากับข้าวสารจีน อนึ่ง รายงานของเว็บไซต์ข่าว finance.qq.com พบว่า ข้าวสารจากเวียดนามมีต้นทุนที่ต่ำกว่าข้าวสารในประเทศจีนถึงร้อยละ 50

ความแตกต่างของราคาข้าวสารในประเทศกับข้าวสารนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 745 หยวนต่อตัน (หรือ 114.48 เหรียญสหรัฐ) โดยในปี 2558 จีนนำเข้าข้าวสารที่ 3.35 ล้านตัน คิดเป็นราคาต่างที่ 2.53 พันล้านหยวน

ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 ก.ย.58-31 ส.ค.59) มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-23 กุมภาพันธ์ 2559 EU นำเข้าข้าว แล้วประมาณ 583,986 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจำนวน 493,787 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 47,377 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวน 43,736 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้าประมาณ 536,610 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับจำนวน 450,051 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558-23 กุมภาพันธ์ 2559 มีการนำเข้าประมาณ 134,460 ตัน ตามด้วยฝรั่งเศสจำนวน 100,562 ตัน เนเธอร์แลนด์ 68,192 ตัน โปแลนด์ 43,627 ตัน อิตาลี 42,490 ตัน เยอรมนี 45,900 ตัน และประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม 148,755 ตัน

ปีการผลิต 2557/58 (ก.ย.57-ส.ค.58) สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.013 ล้านตัน ในปีการผลิต 2556/57 ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุว่า การนำเข้าข้าวจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (the Least Developed Countries :LDCs) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย เช่น เมียนมาร์กัมพูชา ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการผลิต 2558/59 (ก.ย. 2558-ก.พ. 2559) มีจำนวนประมาณ 185,180 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าจากกัมพูชาประมาณ 154,020 ตัน คิดเป็นร้อยละ 83 ของการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มนี้และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะที่มีการนำเข้าจากเมียนมาร์ ประมาณ 28,348 ตัน คิดเป็นร้อยละ 15 ของการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มนี้ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสมัชชาเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบทแห่งสหภาพยุโรป (the EU Directorate General for Agriculture and Rural Development; EU-DGARD) รายงานว่า ผลผลิตข้าวของสหภาพยุโรปในปีการตลาด 2558/59 (ก.ย.58-ส.ค.59) คาดว่าจะมีประมาณ 1.772 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.637 ล้านตัน ในปี 2557/58

โดยในเดือนกุมภาพันธ์ EU-DGARD คาดว่า ผลผลิตข้าวสายพันธุ์ Japonica rice มีประมาณ 1.322 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.089 ล้านตัน ในปี 2557/58 แต่ผลผลิตข้าวสายพันธุ์ Indica rice คาดว่าจะมีประมาณ 0.449 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับจำนวน 0.548 ล้านตัน ในปี 2557/58 ทั้งนี้ EUDGARD คาดว่าในปีการตลาด 2558/59 จะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 2.725 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทางด้านการส่งออกนั้น คาดว่า ในปีการตลาด 2558/59 (ก.ย.58-ส.ค.59) จะมีการส่งออกไปยังประเทศนอกกลุ่ม EU (to non-EU countries) ประมาณ 200,000 ตัน ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้านั้น คาดว่าจะมีการนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่ม EU (from non-EU countries) ประมาณ 1.290 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.193 ล้านตัน ในปีทีผ่านมา และคาดว่าสต็อกข้าวสิ้นปีจะมีประมาณ 585,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 7 - 13 มี.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ