ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 22, 2016 14:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้

(1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)

(3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)

(4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก (คน.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,694 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,691 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.03

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,742 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,748 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,290 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 798 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,770 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 791 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,786 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.86 แต่ลดลงในรูปเงินเงินบาทตันละ 16 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,123 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,147 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.83 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 24 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 386 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,432 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,454 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.78 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,119 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 373 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,103 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.07 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 16 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 389 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,537 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,524 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 13 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7991 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาขยับสูงขึ้นใกล้ระดับสูงที่สุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการคาดการณ์ว่าผลผลิตบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะแห้งแล้งและสภาวะน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่การเกษตรประกอบกับมีความต้องการข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่วงการค้าระบุว่าในช่วงนี้ผู้ส่งออกยังไม่ต้องการรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะกำลังประเมินความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ผู้ค้าบางส่วนได้เร่งซื้อข้าวเพื่อสต็อกไว้ ปัจจุบันราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 370- 375 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากตันละ 355-367 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) ระบุว่า ในปีนี้สมาคมฯ อาจไม่ต้องเข้าร่วมโครงการจัดหาข้าวและเก็บรักษาข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เนื่องจากภาวะราคาข้าวในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (winter-spring crop) ซึ่งผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากก็ตาม แต่เนื่องจากในปีนี้เกิดภาวะแห้งแล้งและภาวะน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวอาจจะลดลง ส่งผลให้ราคาข้าวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ ช่วงต้นปี

สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-29 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 439,449 ตัน มูลค่า 178.006 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 118.8 และร้อยละ 94.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 200,814 ตัน มูลค่า 91.655 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม -29 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 856,219 ตัน มูลค่า 347.834 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 103.3 และร้อยละ 82.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 421,202 ตัน มูลค่า 190.539 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ในช่วงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ - 9 มีนาคม เวียดนามส่งออกข้าวผ่านทางท่าเรือ ประมาณ 150,500 ตัน โดยส่งไปอินโดนีเซีย ประมาณ 28,100 ตัน ฟิลิปปินส์ ประมาณ 48,400 ตัน คิวบา ประมาณ 29,000 ตัน แอฟริกาใต้ ประมาณ 22,000 ตัน และประเทศอื่นๆ ประมาณ 23,000 ตัน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนมกราคม 2559 เวียดนามส่งออกข้าว 508,153 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 504,651 ตัน ในเดือนธันวาคม 2558 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 320,750 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2558 ตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนมกราคม 2559 ประกอบด้วย ตลาดเอเชีย จำนวน 322,076 ตัน รองลงมาคือ ตลาดแอฟริกา จำนวน 88,802 ตัน ตลาดอเมริกา จำนวน 84,732 ตัน ตลาดยุโรป และเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 3,079 ตัน และตลาดออสเตรเลียจำนวน 9,464 ตัน โดยส่งออกข้าวขาว 5% จำนวน 149,747 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) 117,208 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 129,414 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 52,294 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 46,386 ตัน ข้าวขาว 10%, 100% และข้าวชนิดอื่นๆรวม จำนวน 13,104 ตัน

กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) รายงานว่า จากภาวะภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำลดลง และภาวะน้ำเค็มที่รุกเข้าไปในพื้นที่เกษตร ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวประมาณ 200,000 ตันแล้ว และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน อาจทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายประมาณ 500,000 ตัน

ผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวของเวียดนามได้เรียกร้องให้รัฐบาลพุ่งเป้าไปที่การวางแผนด้านการผลิตและการส่งออกที่เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาสามารถส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้อย่างก้าวกระโดดจาก จำนวน 48,739 ตัน ในปี 2557 เป็น 116,000 ตัน ในปี 2558 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคน มองว่ากัมพูชาก็เกรงกลัวการแข่งขันจากเวียดนามเช่นกัน หลังจากเวียดนามมีการขยายตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรป ปัจจุบันเกษตรกรกัมพูชาเน้นการเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูงแต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ขณะที่เกษตรกรเวียดนามจะเพาะปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่ให้ผลผลิตสูง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เกษตรกรเวียดนามไม่ควรไปเน้นการแข่งขันกับประเทศไทยและกัมพูชาในการเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง เพราะหากเกษตรเลือกเพาะปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูงก็จะได้กำไรดีกว่า แต่ต้องคอยเฝ้าระวังปัจจัยทางด้านสภาวะดินเค็ม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าว

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

องค์การอาหารแห่งชาติ (the Food Corporation of India; FCI) รายงานว่า สต็อกข้าวในคลังของรัฐบาล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2559 มีจำนวน 29.234 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับจำนวน 23.794 ล้านตัน ในช่วง เดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับจำนวน 28.95 ล้านตัน ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสต็อกข้าวในปัจจุบันมากกว่าระดับสต็อกขั้นต่ำ (the buffer and strategic reserve norms) ประมาณ 3.84 เท่า (กำหนดไว้ช่วงเวลานี้ที่ 7.61 ล้านตัน)

สำหรับสต็อกพืชอาหารทั้งหมดมีจำนวนรวม 46.233 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 43.618 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 49.329 ล้านตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นสต็อกข้าวสาลีประมาณ 16.865 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ข้อมูลจาก IBIS รายงานว่า อินเดียส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรก (ต.ค.-ก.พ.) ของปีการตลาด 2558/59 (ต.ค.-ก.ย.) ได้ 4.585 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 16.95 เมื่อเทียบกับจำนวน 5.521 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ (non-basmati) ประมาณ 4.43 แสนตัน ส่วนข้าวบาสมาติ (basmati) ส่งออกได้ประมาณ 2.66 แสนตัน โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวบาสมาติที่สำคัญ คือ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิหร่าน ส่วนประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติที่สำคัญ คือ เซเนกัล เบนิน ไอวอรี่โคสต์ และแอฟริกาใต้ ทั้งนี้จำนวนข้าวส่งออกของอินเดียในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 12.25 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมซึ่งส่งออกได้ประมาณ 8.08 แสนตัน

รัฐบาลอินเดียกำลังวางแผนขยายตลาดส่งออกข้าวบาสมาติและข้าวสาลีโดยใช้วิธีแลกข้าวกับน้ำมันกับกลุ่มประเทศสมาชิก GCC (the Gulf Cooperation Council) ซึ่งในขณะนี้มีการเจรจากับประเทศสมาชิก 2-3 รายแล้ว โดยการพิจารณารายละเอียดต่างๆ จะดำเนินการโดยระดับผู้นำของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ อินเดียนำเข้าน้ำมันจากประเทศในกลุ่ม GCC คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการน่าเข้าน้ำมันทั้งหมด ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้ที่เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของอินเดีย เช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ โดยในปีงบประมาณ 2557/58 ที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าวบาสมาติมาไปยังสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ จำนวน 278,601 ตัน และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558/59 มีการส่งออกแล้วจำนวน 411,775 ตัน

ที่มา Oryza.com

ไนจีเรีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา รายงานว่า Aliko Dangote นักธุรกิจชาวไนจีเรีย ผู้ร่ำร่รวยที่สุดในแอฟริกาและเป็นอันดับ 51 ของโลก ประกาศจะผลิตข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 5 ปี

ปัจจุบันไนจีเรียนำเข้าข้าวประมาณปีละ 2.8 ล้านตัน โดยนำเข้าจากทวีปเอเชียเกือบทั้งหมดและเป็นการนำเข้าแบบผิดกฎหมายตามแนวชายแดนทางบก ดังนั้นกลุ่ม Dangote ซึ่งเป็นผู้ผลิตซีเมนต์ น้ำตาล น้ำมัน และปิโตรเคมี จึงหันมาลงทุนภาคการเกษตรมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้า และมีแผนจะตั้งโรงงานผลิตปุ๋ย โดยอยู่ระหว่างการเจรจาสั่งซื้อฟอสเฟตซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญจากประเทศโมร็อคโค และคองโก

ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่ม Dangote จะผลิตข้าวได้ 1 ล้านตัน ในระยะเวลา 5 ปี โดยขณะนี้ได้กว้านซื้อที่ในรัฐต่างๆ ที่มีพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว รวมประมาณ 2 แสนเฮกเตอร์ หรือ 1.25 ล้านไร่ และได้เร่งพัฒนาระบบชลประทาน เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยเป็นของตนเอง โดยมีหัวหน้าโครงการปลูกข้าวเป็นชาวบราซิล และดำเนินการเพาะปลูกในพื้นที่บางส่วนแล้ว ซึ่งการที่กลุ่ม Dangote ไม่รอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล นั้น เนื่องจากกลุ่มมีเงินทุนเพียงพอ รวมทั้งมีการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ จึงน่าจะทำให้กลุ่มสามารถบรรลุผลได้ตามที่ต้องการ

ทั้งนี้ ไนจีเรียต้องผลิตข้าวสารให้ได้ปริมาณถึง 6 ล้านตันต่อปี จึงจะเพียงพอต่อการบริโภค ดังนั้น ไนจีเรียคงยังไม่สามารถบรรลุผลตามนโยบายดังกล่าวได้ในระยะเวลา 5 ปี ยังต้องน่าเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่จะนำเข้าในปริมาณที่ลดลงกว่าอดีตที่ผ่านมา

ปัจจุบันไนจีเรียเก็บภาษีนำเข้าข้าว 2 อัตรา คือ อัตราร้อยละ 30 สำหรับผู้นำเข้าข้าวที่ลงทุนปลูกข้าวหรือธุรกิจสีข้าว และอัตราร้อยละ 70 สำหรับผู้นำเข้าข้าวทั่วไปที่ไม่มีการลงทุนปลูกข้าวหรือธุรกิจสีข้าว อย่างไรก็ตามปัจจุบันไนจีเรียไม่ยอมประกาศรายชื่อผู้มีสิทธินำเข้าข้าวในอัตราร้อยละ 30 และโควตานำเข้ามาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงต้องเสียภาษีนำเข้าข้าวในอัตราร้อยละ 70 เมื่อปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางไนจีเรียโดยความเห็นชอบของรัฐบาลได้ประกาศให้ข้าวเป็นสินค้า 1 ใน 41 รายการ ที่ห้ามผู้นำเข้าแลกเงินตราต่างประเทศจากสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต (ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ และร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา) เพื่อชำระค่าสินค้านำเข้า

จากสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าข้าวที่ผิดกฎหมายไปยังไนจีเรียตามแนวชายแดนทางบก ที่ติดต่อกับเบนินและแคเมอรูนเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวช่วยส่งเสริมให้คนไนจีเรีย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีเงินลงทุนหันมาปลูกข้าวมากขึ้น

ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา

บราซิล

องค์การธัญพืชแห่งชาติ (Brazil’s National Grains Supply Company; Conab) พยากรณ์ว่าในปีการผลิต 2558/59 จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 11.215 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับจำนวน 12.444 ล้านตันข้าวเปลือก ในปีการผลิต 2557/58 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง โดยในปีการผลิต 2558/59 นั้น คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกจะลดลงเหลือ 12.5 ล้านไร่ ลดลงร้อยละ 11 จากปีการผลิต 2557/58

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่าในปีการตลาด 2558/59 (เม.ย.58-มี.ค.59) ผลผลิตข้าวเปลือกคาดว่าจะมีประมาณ 11.765 ล้านตัน หรือประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับ จำนวน 12.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 8.5 ล้านตันข้าวสาร ในปีการผลิต 2557/58

สถาบัน The Rice Institute of Rio Grande do Sul (IRGA) รายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 2559) บราซิลส่งออกข้าวประมาณ 170,751 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับจำนวน 119,828 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในเดือนกุมภาพันธ์บราซิลส่งออกข้าวประมาณ 74,701 ตัน ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับจำนวน 96,050 ตัน ในเดือนมกราคม 2559 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบจำนวน 49,915 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบด้วย สหรัฐฯ จำนวน 34,726 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 46 ของการ ส่งออกในเดือน ก.พ. 2559) สวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 16,550 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 22 ของการส่งออกในเดือน ก.พ. 2559) เปรู จำนวน 5,882 ตัน โบลิเวีย จำนวน 2,266 ตัน แกมเบีย จำนวน 2,220 ตัน แองโกล่า จำนวน 2,195 ตัน เบลเยี่ยม จำนวน 1,614 ตัน เป็นต้น

ในปี2558 บราซิลส่งออกข้าวประมาณ 1.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.24 ล้านตัน ในปี 2557

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14 - 20 มี.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ