1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ
(1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)
(2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)
(3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)
(4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้มีการซื้อขายผลผลิตน้อย
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,488 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,648 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.50
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,719 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,695 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,375 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 802 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,846 บาท/ตัน)
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 605 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,006 บาท/ตัน)
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 397 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,784 บาท/ตัน)
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,437 บาท/ตัน)
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,958 บาท/ตัน)
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7205 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
รัฐบาลเวียดนามคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 3 ล้านตัน (ยังไม่นับรวมตัวเลขการส่งออกข้าวอย่างไม่เป็นทางการตามแนวชายแดน) หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ท่ามกลางภาวะผลผลิตข้าวที่มี แนวโน้มลดลง ขณะที่สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) คาดว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะมีการส่งออกข้าวประมาณ 1.6 ล้านตัน ลดลงประมาณ 200,000 ตัน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 1.8 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเพื่อการส่งออกที่สำคัญ จะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวมีแนวโน้มลดลงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี ผู้ส่งออกได้ส่งออกข้าวแล้วประมาณ 1.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐให้กับประเทศอินโดนีเซียประมาณ 1 ล้านตัน และฟิลิปปินส์ประมาณ 450,000 ตัน ขณะเดียวกันมีการส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากการที่ในช่วงนี้ราคาข้าวของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งทั้งไทยและอินเดียจึงอาจทำให้เวียดนามสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในช่วงนี้ ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (หรือ 12,847 บาทต่อตัน) ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของไทยและอินเดียอยู่ที่ประมาณ 375 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (หรือ 13,020 บาทต่อตัน)
สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วงวันที่ 1-14 เมษายน 2559 มีจำนวน 104,517 ตัน มูลค่า 48.421 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 56.2 และร้อยละ 46.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 238,582 ตัน มูลค่า 90.589 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวในช่วงวันที่ 1 มกราคม -14 เมษายน 2559 มีจำนวน 1.531 ล้านตัน มูลค่า 625.179 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 และร้อยละ 32.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 1.144 ล้านตัน มูลค่า 472.805 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 451,927 ตัน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 400,269 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 10,534 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 33,123 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 1,654 ตัน และตลาดออสเตรเลียจำนวน 6,347 ตัน ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เวียดนามสามารถส่งออก
ข้าวขาว 15% จำนวน 186,134 ตัน ข้าวขาว 5% จำนวน 97,586 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 70,055 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) 48,434 ตัน ข้าวเหนียว 37,218 ตัน ส่วนข้าวขาว 10% ข้าวขาว 100% และข้าวชนิดอื่นๆ ส่งออกรวมจำนวน 12,500 ตัน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เวียดนามต้องต่อสู้กับภัยแล้งและการรุกล้ำของน้ำเค็มที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปีในเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่นำความร้อนและความแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภัยพิบัติดังกล่าวได้ชะลอการเติบโตภาคเกษตรกรรมของเวียดนามในช่วงไตรมาสแรก ทำให้ผลผลิตข้าวในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำลดลง ขณะเดียวกันในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวก็ปรับตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ซึ่งการที่ราคาข้าวปรับสูงขึ้นทำให้เวียดนามสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาด
นักวิจัยสินค้าทางการเกษตรจาก BMI (BMI Research) ระบุว่า ในปีนี้ผลผลิตข้าวของเวียดนามอาจลดลงร้อยละ 0.5 นับเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553/54 ที่มีผลผลิต 28 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับรัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกข้าวโพดแทน
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ (deputy head, Research Institute for Climate Change under Can Tho university) กล่าวว่า เวียดนามควรเดินตามรอยไทย
ในการปรับโครงสร้างการปลูกข้าว ด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูกและเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ควรประเมินทิศทางสำหรับพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและไม่ควรแข่งผลิตข้าว
ที่มา Oryza.com
สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (The Secretariat of One Window Service for Rice Export; SOWS-REF) รายงานว่า ในเดือนมีนาคม 2559 กัมพูชาส่งออกข้าว 66,275 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 51,912 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 แต่ลดลงร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 75,867 ตัน ในเดือนมีนาคม 2558 สำหรับชนิดข้าวที่กัมพูชาส่งออกในเดือนมีนาคม 2559 ประกอบด้วย ข้าวหอมในกลุ่ม Jasmine Rice (PML/PRD) จำนวน 17,612 ตัน ข้าวหอมชนิดอื่นๆ (Fragrant rice) เช่น Senkraob, Neangsauy, Neang Malis, Somaly, Jasmine organic rice จำนวนรวม 8,533 ตัน ข้าวขาว (long grain white rice) และข้าวขาวชนิดพิเศษ (Premium long grain) จำนวนรวม 33,988 ตัน และข้าวนึ่ง (long grain parboiled) จำนวน 6,142 ตัน
ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2559) กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 162,220 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 149,464 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับชนิดข้าวที่กัมพูชาส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกประกอบด้วย ข้าวหอมในกลุ่ม Jasmine Rice (PML/PRD) จำนวน 45,913 ตัน ข้าวหอมชนิดอื่นๆ (Fragrant rice) เช่น Senkraob, Neangsauy, Neang Malis, Somaly, Jasmine organic rice จำนวนรวม 26,431 ตัน (ข้าวหอมทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 44.6 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) ข้าวขาว (long grain white rice) และข้าวขาวชนิดพิเศษ (Premium long grain) จำนวนรวม 78,109 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 48.2 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด) และข้าวนึ่ง (long grain parboiled) จำนวน 11,767 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 7.2 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด)
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2559 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังประเทศจีน 16,682 ตัน ประเทศฝรั่งเศส 8,542 ตัน โปแลนด์ 7,428 ตัน เนเธอร์แลนด์ 3,671 ตัน สหราชอาณาจักร 3,370 ตัน สาธารณรัฐเชค 2,805 ตัน เบลเยี่ยม 2,445 ตัน ฮังการี 2,620 ตัน และมาเลเซีย 2,208 ตัน เป็นต้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2559) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 47 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีนจำนวน 37,118 ตัน ฝรั่งเศสจำนวน 20,996 ตัน โปแลนด์ 18,212 ตัน เนเธอร์แลนด์ 8,307 ตัน มาเลเซีย 8,210 ตัน สหราชอาณาจักร 7,956 ตัน สาธารณรัฐเชค 6,184 ตัน บรูไน 5,922 ตัน เบลเยี่ยม 5,897 ตัน ฮังการี5,835 ตัน อิตาลี5,517 ตัน และฮ่องกง 1,130 ตัน เป็นต้น
ในปี 2558 กัมพูชาส่งออกข้าวรวม 538,396 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 387,061 ตัน ในปี 2557 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญคือประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย เช่น จีน 116,639 ตัน ฝรั่งเศส 75,257 ตัน โปแลนด์ 58,410 ตัน มาเลเซีย 54,914 ตัน เนเธอร์แลนด์ 58,410 ตัน อิตาลี 24,049 ตัน สาธารณรัฐเชค 22,597 ตัน เบลเยี่ยม 19,921 ตัน สหราชอาณาจักร 18,557 ตัน เยอรมนี 13,076 ตัน สเปน 10,382 ตัน โปรตุเกส 10,312 ตัน สิงคโปร์ 5,587 ตัน บรูไน 2,100 ตัน และอินโดนีเซีย 1,000 ตัน เป็นต้น
แม้ว่าภาพรวมการส่งออกข้าวของกัมพูชาในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับปี 2557 แต่ด้วยผลกำไรที่ต่ำและรายได้ที่ไม่แน่นอน ในขณะที่ราคาที่ดินสูงขึ้น ทำให้ชาวนาในหลายจังหวัดตัดสินใจเลิกอาชีพทำนาและขายที่นาให้แก่นายทุนที่ต้องการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในภาคการเกษตรของกัมพูชามีแนวโน้มลดลงในอนาคต
ประธานสมาคมตัวแทนอสังหาริมทรัพย์และประเมินสินทรัพย์กัมพูชา กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาที่ดินบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 และหมายเลข 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมีนักลงทุนจำนวนมาก ต้องการหาซื้อที่ดินในบริเวณดังกล่าวเพื่อก่อสร้างโรงงานและร้านค้าเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงส่งผลให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านผู้แทนชาวนา กล่าวว่า ชาวนาส่วนใหญ่ยากจน บางรายไม่มีแม้กระทั่งวัวควายเป็นของตนเอง ต้องเช่ารถแทรกเตอร์มาใช้ในการทำนา ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเฮคตาร์ (หรือ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อไร่) บางรายมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด ทำให้ผลผลิตตกต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่ที่ดินกลับเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตารางเมตร จากเดิมที่มีราคาประมาณ 10-20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2548-2549 มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ซื้อเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม บางรายซื้อเพื่อเก็งกำไร และบางรายซื้อไปเพื่อนำมาให้ชาวนาเช่าเพื่อทำนาในราคาที่แพงขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวนาหลายรายยอมตัดสินใจขายที่นา เนื่องจากรายได้ที่ได้จากการทำนาน้อยมากและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ บางรายยากจนมากต้องการขายเพื่อนำเงินไปซื้อบ้าน ซื้อรถ ใช้หนี้หรือเพื่อไปลงทุนอาชีพอื่นๆ แทน ประกอบกับปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น วัยรุ่นหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่นิยมทำนาแต่นิยมทำงานในโรงงานแทนเนื่องจากสบายและได้รับค่าแรงที่สูงและแน่นอนกว่าทำนา ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ชาวนาประสบกับปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด ไม่มีน้ำทำนาและปลูกพืชชนิดใดก็ไม่ได้ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวชาวนาหลายรายจึงตัดสินใจประกาศขายที่นาทิ้งและหันไปทำงานในโรงงานแทน
จากผลการศึกษาของ ADB ชี้ให้เห็นว่า การจ้างงานในภาคการเกษตรของกัมพูชาลดลงจากร้อยละ 51 ในปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.7 ในปี 2556 แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.6 เป็นร้อยละ 19.9 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยตัวเลขการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากปัจจัย สำคัญหลัก คือ การทำนามีต้นทุนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันเชื่อเพลิงที่ถูกกว่า ทำให้ข้าวของกัมพูชาไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศเพื่อนบ้านได้ และการทำงานในโรงงานฯ ได้ค่าแรงที่แน่นอนและดีกว่าเมื่อเทียบกับการทำนา ประกอบกับราคาที่ดินที่แพงขึ้นหากขายก็จะได้กำไรมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ชาวนาจำนวนมากตัดสินใจเลิกทำนา และมีแนวโน้มว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า แรงงานในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชาร้อยละ 40 จะย้ายเข้าสู่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแทน
ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2558/59 (ก.ค.58 - มิ.ย.59) ประเทศจีนมีสต็อกข้าว ณ สิ้นปีประมาณ 50.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับจำนวน 47.64 ล้านตัน ในปีการตลาด 2557/58 และ หากการคาดการณ์ในปีการตลาด 2559/60 ว่า จีนจะมีสต็อกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 52.91 ล้านตันจริง จะทำให้รัฐบาลประสบปัญหาในการระบายข้าวจากสต็อกรัฐบาล
ด้านการบริโภค คาดว่าจะมีประมาณ 148 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 150.3 ล้านตัน เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข้าวไปบริโภคอาหารชนิดอื่นๆ การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และในปีการตลาด 2559/60 (ก.ค.59-มิ.ย.60) คาดว่าปริมาณการบริโภคข้าวจะลดลงเหลือประมาณ 147.4 ล้านตัน
ส่วนการนำเข้า คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 5 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากจำนวน 4.7 ล้านตันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ค้าข้าวของจีนมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพราะราคาข้าวในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตร จึงทำให้มีการนำเข้าข้าวจากประเทศเวียดนามและไทยมากขึ้น ขณะที่ผู้ค้าข้าวในประเทศต่างเร่งนำเข้าข้าวคุณภาพสูงจากต่างประเทศเพราะยังไม่มั่นใจคุณภาพข้าวในคลังของรัฐบาล และในปีการตลาด 2559/60 ยังคาดการณ์ว่า จะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 5 ล้านตันข้าวสาร
สำหรับผลผลิตข้าว คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 208.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่จำนวน 206.5 ล้านตัน
ที่มา Oryza.com
หนังสือพิมพ์ Nikkei รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ข้าวที่ผลิตในปี 2558 โดยเฉพาะข้าวแบรนด์ที่ใช้ในธุรกิจ (ข้าวเพื่อใช้ในธุรกิจ หมายถึง ข้าวสำหรับใช้ในธุรกิจร้านอาหาร ปิ่นโต อาหารแช่แข็ง เป็นต้น แบรนด์ซึ่งเป็นที่นิยม เช่น “Hitomebore” “Haenuki” เป็นต้น แบรนด์ข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือนซึ่งเป็นที่นิยม เช่น “Koshihikari” “Akita Komachi” เป็นต้น สัดส่วนข้าวเพื่อบริโภคแบ่งเป็นสำหรับธุรกิจร้อยละ 30 สำหรับครัวเรือนร้อยละ 70) มีราคาขายส่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น “Masshigura” ของจังหวัดอะโอโมริซึ่งนิยมใช้ในธุรกิจร้านอาหารนั้น ปัจจุบันมีราคา 11,800 เยน (ประมาณ 3,835 บาท) ต่อ 60 กิโลกรัม ซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ข้าวแบรนด์“Nanatsuboshi” ของจังหวัดฮอกไกโด ที่นิยมใช้ทำปิ่นโต ข้าวห่อสาหร่ายขายในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน
ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในปี 2558 อยู่ที่ 7.44 ล้านตัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ต่ำกว่าเป้าหมายการผลิตที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 7.51 ล้านตัน สำหรับข้าวในปี 2559 นั้น วางแผนไว้ที่ 7.43 ล้านตัน ต่ำกว่าการประเมินอุปสงค์ 1.9 แสนตัน ซึ่งบริษัทค้าส่งข้าวรายใหญ่กล่าวว่า ราคาคงจะสูงขึ้นจากนี้ต่อไป สาเหตุที่ทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น คือ การเปลี่ยนไปผลิตข้าวเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ทำให้ข้าวแบรนด์ราคาต่ำมีอุปทานลดลง แต่ในทางกลับกัน ความต้องการข้าวเพื่อใช้ในธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น
ในการประชุม ณ กระทรวงการเกษตร ป่าไม้และประมง เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559 ประธาน National Rice and Grains Sales Mutual Aid Cooperative ชี้แจงว่า ราคาข้าวสำหรับธุรกิจมีราคาสูงขึ้นกว่าข้าวสำหรับครัวเรือน ช่องว่างระหว่างราคาหดตัวลง
แนวโน้มราคาที่สูงขึ้นของราคาข้าวเพื่อใช้ในธุรกิจส่งผลถึงข้าวแบรนด์ที่จำหน่ายให้กับครัวเรือนด้วย โดยราคาค้าส่งข้าวแบรนด์“Akita Komachi” ของจังหวัดอะคิตะ อยู่ที่ 12,750 เยน (ประมาณ 4,144 บาท) ต่อ 60 กิโลกรัม ซึ่ง สูงขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับต้นปี โดยจะส่งผลถึงราคาขายปลีกหน้าร้านด้วย ซุปเปอร์มาร์เก็ต Kieo Store กล่าวว่า ข้าว แบรนด์ขายดีเช่น Koshihikari ยังคงราคาเดิมอยู่ แต่บางแบรนด์เริ่มมีราคาสูงขึ้น
ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18 - 24 เม.ย. 2559--