1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ
2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้
(1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)
(2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)
(3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)
(4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)
2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
1.2 ราคา
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,590 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,556 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.33
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,888 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,781 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,550 บาท
ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,583 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.42
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8551 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลงท่ามกลางภาวะการค้าที่เบาบาง ขณะที่ผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศหันไปซื้อข้าวจากประเทศปากีสถานที่มีราคาถูกกว่า โดยขณะนี้ ราคาเอฟโอบี ข้าวขาว 5% ตันละ 370 - 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 12,839 - 13,013 บาทต่อตัน) เมื่อเทียบกับตันละ 376 - 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเอฟโอบี ข้าวขาว 5% ของปากีสถานอยู่ที่ตันละ 345 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 11,972 บาทต่อตัน)
สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 - 28 เมษายน 2559 มีจำนวน 229,167 ตัน มูลค่า 106.346 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 64.8 และร้อยละ 60.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 650,507 ตัน มูลค่า 269.459 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม - 28 เมษายน 2559 มีจำนวน 1.655 ล้านตัน มูลค่า 683.105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 1.555 ล้านตัน มูลค่า 651.676 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กระทรวงเกษตร (the Ministry of Agriculture and Rural Development) รายงานว่า ผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter-spring rice crop) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศ มีประมาณ 10.4 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากประสบกับภาวะภัยแล้งและภาวะน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 1.25 ล้านไร่
ทางด้านหน่วยงานของรัฐบาล ได้เสนอทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เลือกเพาะปลูกข้าวพันธุ์ที่ต้านทานต่อภาวะดังกล่าว และเลื่อนการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูการผลิตฤดูร้อน (summer-autumn) ไปเป็นช่วงเดือนกันยายนแทน
ที่มา Oryza.com
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคมนาคมกัมพูชาคนใหม่ได้เรียกประชุมเป็นการเร่งด่วนกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนในการขนส่งสินค้า เนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง กระทรวงคมนาคมของกัมพูชาจึงได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการรับจ้างขนส่งสินค้าลดค่าบริการ และส่งรายงานชี้แจงต้นทุนให้รัฐบาลพิจารณา หากภาคเอกชนไม่ให้ความร่วมมือ รัฐบาลกัมพูชาจะเข้าไปแทรกแซงเรื่องราคา เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากราคาค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจริง
แม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แต่สาเหตุหนึ่งที่ผู้ประกอบการชาวกัมพูชายกมาอ้างถึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งที่สูงเกินไปคือ ค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นทางการที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ประธานสมาคมผู้ประกอบการขนส่งกัมพูชา (CamFFA) ระบุว่า ค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นทางการถือเป็นอุปสรรคหลักในการลดต้นทุนการขนส่งของกัมพูชา และแม้ว่าภาครัฐจะพยายามลดค่าใช้จ่ายที่เป็นทางการ แต่ค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นทางการก็ยังคงมีอยู่ โดยปัญหาดังกล่าวเป็นที่รับรู้มานานแล้ว แต่ผู้ประกอบการหลายรายไม่อยากพูดถึงเพราะจะกระทบต่อธุรกิจ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านการส่งออกของกัมพูชา มีปัญหาเกี่ยวกับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีไม่เพียงพอ ตลอดจนการบริหารจัดการท่าเรือยังมีปัญหา ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน อุตสาหกรรมส่งออกหลักที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการส่งออกข้าวที่ผู้ประกอบการหลายรายระบุว่า ค่าใช้จ่าย
สำหรับการเช่าท่าเรือและตู้คอนเทนเนอร์กำลังทำลายความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกข้าวของกัมพูชา โดยเฉพาะในแง่ของยอดขายและเป้าการส่งออกเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ประธานกลุ่ม Amru Rice ผู้ส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และกรรมาธิการสมาคมข้าวกัมพูชา ระบุว่า การส่งออกข้าวของกัมพูชาในปี 2558 ไม่สามารถบรรลุเป้า 1 ล้านตันได้ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา กัมพูชาส่งออกข้าวราว 410,000 ตัน และทั้งปี 2558 น่าจะส่งออกได้เพียง 500,000 ตัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าพลาดเป้าจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ว่าจะผลักดันให้กัมพูชาส่งออกข้าวถึง 1 ล้านตัน ภายในปี 2558 และขึ้นแท่นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยนักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก หากรัฐบาลกัมพูชาจริงจังกับการแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งในประเทศ ซึ่งผู้ส่งออกข้าวในกัมพูชาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมด่านขาออก (Terminal Fee) ในการส่งออกข้าว 1 คอนเทนเนอร์ ถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4,511 บาท) เมื่อเทียบกับเวียดนามที่จ่ายเพียงราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,776 บาท) เท่านั้น
รายงานจากธนาคารโลก ระบุว่า ปัญหาหนึ่งในการส่งออกข้าวของกัมพูชา คือ การต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์มากเกินไป เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็ก ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งออกสินค้าจึงมีมากกว่าความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการนำสินค้าเข้าประเทศ และด้วยเหตุนี้ การเลือกตู้คอนเทนเนอร์ที่เหมาะสมสำหรับการส่งออกสินค้าประเภทอาหารยิ่งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากบริษัทขนส่งหลายแห่งไม่อยากส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเพื่อไปรับสินค้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรง
ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ ยังนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการค้าข้าวในกัมพูชาต้องเจอ คือ ข้าวที่เก็บเกี่ยวและผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วไม่สามารถส่งออกได้ที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอ ทำให้ข้าวบางส่วนต้องถูกส่งไปขึ้นเรือที่ท่าเรือในกรุงพนมเปญ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวต้องจ่ายค่าบริการ 2 ครั้ง หนึ่งในคณะกรรมาธิการของสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา ระบุว่า ผู้ซื้อข้าวจากกัมพูชาบางรายบอกว่า ข้าวเวียดนามราคาถูกกว่าข้าวกัมพูชา โดยที่ผ่านมาสมาพันธ์ข้าวกัมพูชาได้เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาแทรกแซงเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะที่ท่าเรือ รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ประกอบการลดค่าบริการลง แต่ก็ไม่เป็นผลเท่าที่ควร
นอกจากนี้ การที่กัมพูชาไม่มีท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ จึงทำให้กัมพูชาสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยธนาคารโลกเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ส่งออกสินค้าของกัมพูชาในเวลานี้ คือ การส่งสินค้าตามลำน้ำโขงเพื่อส่งออกไปที่ท่าเรือในเมืองโฮจิมินห์ซิตีของเวียดนาม ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดทั้งต้นทุนและเวลาในการขนส่ง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2558/59 (ต.ค.58-ก.ย.59) ไนจีเรียจะนำเข้าข้าว ประมาณ 2.5 ล้านตัน ลดลงจากจำนวน 3 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยน ราคาข้าวที่ขยับสูงขึ้น และมาตรการห้ามนำเข้าข้าวตามแนวชายแดนของรัฐบาล โดยในปีการตลาด 2559/60 คาดว่าการนำเข้าข้าวจะลดลงเหลือ 2.1 ล้านตัน
ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2558 ธนาคารกลาง (the Central Bank of Nigeria) ได้ออกมาตรการห้ามการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการชำระค่าสินค้าข้าวและสินค้านำเข้าอื่นๆ ทำให้ผู้นำเข้าต้องหาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดมืดเพื่อนำมาชำระค่าสินค้า ขณะที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าข้าวตามแนวชายแดนเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ก่อนที่จะกลับมาห้ามนำเข้าอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2559
ทางด้านผลผลิตข้าวนั้น คาดการณ์ว่า ในปีการตลาด 2558/59 (ต.ค.58-ก.ย.59) ไนจีเรียจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 2.700 ล้านตัน ลดลงจากจำนวน 2.835 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง ส่วนในปีการตลาด 2559/60 นั้น คาดว่าผลผลิตจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลจำกัดการช่วยเหลือเกษตรกร และการลงทุนด้านการเกษตร ทำให้อุปทานข้าวในประเทศยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค โดยในปีการตลาด 2558/59 คาดว่า ไนจีเรียมีความต้องการบริโภคข้าวประมาณ 5.35 ล้านตัน ลดลงจำนวน 2.70 ล้านตันจากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดลง ขณะที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ส่วนในปีการตลาด 2559/60 นั้น คาดว่าแนวโน้มการบริโภคข้าวจะลดลงเหลือ 5.15 ล้านตัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ราคาข้าวถุงในประเทศ ขนาด 50 กิโลกรัม จำหน่ายที่ 35,000 ไนร่า หรือประมาณ 102 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 50 กิโลกรัม (หรือประมาณ 70 บาทต่อกิโลกรัม) ขณะที่ข้าวที่นำเข้าราคา 13,000 ไนร่า หรือประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 50 กิโลกรัม (หรือประมาณ 27 บาทต่อกิโลกรัม) ทางด้านสต็อกข้าวนั้น คาดว่าในปีการตลาด 2558/59 จะมีประมาณ 651,000 ตัน ลดลงจาก 792,000 ตัน ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะอุปทานข้าวตึงตัว และในปีการตลาด 2559/60 คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 300,000 ตัน
ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 พฤษภาคม 2559--