เชียงใหม่เดินหน้านวัตกรรมสตรอเบอรี่ สศท.1 ร่วมหน่วยงานในจังหวัด ชูกิจกรรมยกระดับการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2016 13:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 บูรณาการร่วมหน่วยงานกระทรวงเกษตรภาคเหนือตอนบน 1 พัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและ Logistic สตรอเบอรี่ปลอดภัย ภายใต้โครงการยกระดับการพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมูลค่าเพิ่ม โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบ สู่โรงเรือนต้นแบบแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร

นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สตรอเบอรี่ นับเป็นพืชที่ปลูกได้ดีในพื้นที่สูง มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดที่ จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 3,000 ไร่ โดยปลูกมากที่อำเภอสะเมิง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท สายพันธุ์ที่นิยมได้แก่เชียงใหม่พระราชทาน 80 สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการต่างๆ ในจังหวัดได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบัน พบว่า การผลิต และการตลาดสตรอเบอรี่ มีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันโรคและแมลงเป็นจำนวนมาก ผลผลิตเก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน เน่าเสียง่ายทั้งขณะเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยวที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ความต้องการสตรอเบอรี่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น สศท.1 จึงได้ร่วมกับหน่วยงานกลุ่มแผนในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) ดำเนินกิจกรรม “พัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและ Logistic สตรอเบอรี่ปลอดภัย ในปี 2559” และกิจกรรมส่งเสริม “การผลิตสตรอเบอรี่ปลอดภัยทั้งปีในโรงเรือนแบบปิด ในปี 2560” ภายใต้โครงการยกระดับการพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและมูลค่าเพิ่ม

สำหรับกิจกรรมพัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและ Logistic สตรอเบอรี่ปลอดภัย ในปี 2559 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 1.9 ล้านบาท โดยจัดจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบเพื่อลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว จัดทำ Precooling ต้นแบบจำนวน 1 เครื่อง ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิภายในผลสตรอเบอรี่ จากอุณหภูมิห้องให้ลงต่ำกว่า 15 องศาได้ภายในเวลา 90 นาที และจัดทำเครื่องต้นแบบในการเคลือบผลสตรอเบอรี่ด้วย วุ้นจำนวน 1 เครื่อง ซึ่งสามารถยืดอายุการจำหน่ายได้นาน 7-10 วัน เมื่อทำการเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และแนวทางในการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและ Logistic ที่เหมาะสมของสตรอเบอรี่แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ 160 คน มีการจัดให้ผู้แทนเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ได้ไปศึกษาดูงาน ศึกษาและพัฒนาแผนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างน้อย 2 ผลิตภัณฑ์จากสตรอเบอรี่ที่เกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง และจัดทำฐานข้อมูลการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและ Logistic

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการถ่ายทอดความรู้แล้ว ยังมีกิจกรรมการสนับสนุนโรงเรือนแบบปิดปลูก สตรอเบอรี่ได้ทั้งปี จำนวน 2 โรงเรือน ในปี 2560 งบประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะจัดทำโรงเรือนต้นแบบผลิตสตรอเบอรี่ทั้งปีในระบบรางและระบบอุณหภูมิที่เหมาะสม ขนาดโรงเรือน 10x40 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน ซึ่งโรงเรือนดังกล่าว จะตั้งอยู่ในพื้นที่สตรอเบอรี่ของอำเภอสะเมิงและในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบของเกษตรกรที่สนใจ

ทั้งนี้ คาดว่านวัตกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการผลิต และ Logistic ในสตรอเบอรี่ จะช่วยทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตสตรอเบอรี่ชั้นดีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่และผู้มาเยือนได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการสร้างสรรเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มีการบริโภคในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เกิดผลดีต่อผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้รวบรวม ผู้แปรรูป ผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ เป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกด้วย

**********************************

ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ