ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2016 14:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

— (1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

— (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

— (3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบ จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเสนอ

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 4 มาตรการ ดังนี้

— (1) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

— (2) มาตรการส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ (ธ.ก.ส.)

— (3) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย “ปรับเปลี่ยนพื้นที่แบบไม่ถาวร ปลูกพืชไร่ พืชตระกูลถั่ว และพืชอายุสั้น ในฤดูนาปรัง 2560” (กสก.)

— (4) มาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย โครงการไถกลบตอซังและปลูกพืชปุ๋ยสดในนาข้าว (พด.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

— (1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (กสส. ตส. และ ธ.ก.ส.)

— (2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี (ธ.ก.ส.)

— (3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

— (4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดส่งออกมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากพื้นที่ประสบภัยแล้ง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,920 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,843 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,907 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,901 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,000 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 23,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.05

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,375 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.80

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 801 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,179 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 795 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,780 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 607 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,354 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 613 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,420 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,268 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,816 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.36

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,635 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 409 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,292 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.71

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 445 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,655 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,235 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9435 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

— นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า จากสถิติการส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 3 พ.ค. 2559 ปรากฏว่า ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สูงถึง 3.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณการส่งออกข้าวที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก สูงกว่าอินเดียที่ส่งออกได้ 3.23 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 20.78 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเวียดนามส่งออกข้าว 2.16 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปากีสถานส่งออกได้ 1.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมทั้งกล่าวว่า คาดว่าทั้งปีไทยจะส่งออกข้าวได้ 9.5 ล้านตัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลกอีกครั้ง แซงหน้าอินเดียที่กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 เมื่อปี 2558 ซึ่งอินเดียส่งออกข้าวได้ 10.9 ล้านตัน แต่ปีนี้อินเดียคาดว่าจะส่งออกเพียง 8.85 ล้านตันเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้สต็อกข้าวอินเดียลดลง ส่วนเวียดนามคาดว่าจะส่งออกได้ 6.7 – 7 ล้านตัน

สำหรับภาพรวมราคาข้าวในตลาดขณะนี้ถือว่าสูงสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังลดลงจากภัยแล้ง ราคาข้าวเกือบทุกชนิดปรับตัวสูง ส่วนกรณีราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าข้าวเปลือกหอมมะลิ 2,000 บาท/ตัน เป็นผลจากตลาดมีความต้องการข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

— อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 16 พ.ค. 2559 ไทยส่งออกข้าวได้จำนวน 3.91 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกข้าวไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นผลจากการที่ผู้ซื้อต่างประเทศกลับมาซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเอกชนจำนวน 51 ราย ยื่นซองคุณสมบัติเพื่อประมูลข้าวสารสต็อกรัฐบาลปริมาณข้าว 1.2 ล้านตัน ซึ่งการประมูลข้าวรอบนี้มีผู้สนใจจำนวนมากเพราะผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง จึงเชื่อว่าการประมูลรอบนี้รัฐบาลจะระบายข้าวออกไปได้จำนวนมากและได้ราคาดี แต่อาจไม่สูงเท่าราคาตลาด เนื่องจากเป็นข้าวเก่า และหากระบายได้หมายจะทำให้สต็อกข้าวรัฐบาลเหลือประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ 7 ล้านตัน เป็นข้าวที่เปิดประมูลเป็นการทั่วไปได้ ส่วนที่เหลือจะเปิดระบายสำหรับภาคอุตสาหกรรม

ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

เมียนมาร์

— รองประธานสมาพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation) คาดว่า ในปีงบประมาณ 2559/60 (เมษายน 2559-มีนาคม 2560) เมียนมาร์จะส่งออกข้าวได้อย่างน้อย 1.5 ล้านตัน โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งป็นเดือนแรกของปีงบประมาณสามารถส่งออกได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558/59 ที่ผ่านมา เมียนมาร์ส่งออกข้าวทั้งต้นข้าวและปลายข้าวได้ประมาณ 1.4 ล้านตัน ต่ำกว่าปริมาณที่เคยส่งออกได้ในปีงบประมาณ 2557/58 ประมาณ 400,000 ตัน เนื่องจากเมียนมาร์ประสบทั้งอุทกภัยครั้งรุนแรงทางภาคตะวันตก และภาวะภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ โดยประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าที่สำคัญคิดเป็นร้อยละประมาณ 90 ของการส่งออกทั้งหมด

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

— สำนักงานสถิติแห่งชาติ (the Philippine Statistics Authority; PSA) รายงานสต็อกข้าว ณ วันที่ 1 เมษายน 2559 มีจำนวนประมาณ 3.36 ล้านตัน (เพียงพอสำหรับบริโภค 99 วัน มากกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 90 วัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.65 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.674 ล้านตัน ในเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.542 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

— ทั้งนี้ สต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีจำนวนประมาณ 1.133 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 133.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 485,400 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 33.7 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภค 33 วัน) ซึ่งเป็นข้าวที่นำเข้าร้อยละ 87.2 ของปริมาณทั้งหมด โดยสต็อกข้าวของ NFA เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 ประมาณร้อยละ 4.8

— ขณะที่สต็อกในคลังของเอกชน (Commercial warehouses) มีจำนวนประมาณ 1.005 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 801,500 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 29.9 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภค 30 วัน) และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 ประมาณร้อยละ 42.4 ส่วนสต็อกในภาคครัวเรือน (Household stocks) มีจำนวนประมาณ 1.22 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.255 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 36.4 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภค 36 วัน) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2559 ประมาณร้อยละ 37.7

ที่มา Oryza.com

ไนจีเรีย

— สำนักงานสถิติแห่งชาติไนจีเรียประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับปีที่ ผ่านมา และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.8 ของเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้น 6 เดือนติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 6 ปีภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว เกิดจากการประกาศขึ้นค่าไฟของรัฐบาลและภาวะน้ำมันขาดแคลน ทำให้ผู้บริโภคและโรงงานอุตสาหกรรมต้องซื้อน้ำมันจากตลาดมืดซึ่งแพงกว่าราคาควบคุมของรัฐบาลประมาณ 2-3 เท่า นอกจากนี้ ราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้ด้วย

— อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ทางนโยบายการเงิน มีความเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่แท้จริงของเงินเฟ้อเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่ผิดพลาด ซึ่งจำกัดอุปทานเงินตราต่างประเทศให้หมุนเวียนในตลาดน้อยเกินไปเพื่อรักษาระดับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยการห้ามผู้นำเข้าสินค้า 41 รายการ รวมทั้งข้าว อาหาร เครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้างแลกเงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าที่นำเข้า ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดขึ้นไปถึง 350 ไนร่าต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 199 ไนร่าต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแพงขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว

— การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศหมุนเวียนดังกล่าว ส่งผลไปถึงการนำเข้าน้ำมันสาเร็จรูปด้วย เนื่องจากผู้นำเข้าไม่สามารถหาเงินตราต่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าสินค้าน้ำมันจะไม่อยู่ใน 41 รายการ ผู้นำเข้าจึงชะลอการนำเข้าน้ำมัน ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันทั่วประเทศ จนรัฐบาลต้องประกาศราคาน้ำมันลอยตัวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 โดยยกเลิกการอุดหนุน (ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากราคาควบคุมลิตรละ 86 ไนร่า เป็น ลิตรละ 145 ไนร่า) เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้นำเข้าน้ำมันกลับมานำเข้าอีกครั้ง

ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 16 - 22 พฤษภาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ