สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,000 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,190 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.70
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,410 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,378 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท
ราคาลดลงจากตันละ 25,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.96
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72 3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 834 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,175 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 837 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,338 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.36
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,598 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 633 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,188 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.05
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,392 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,458 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,727 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,792 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 448 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,672 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,773 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9817 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 - 31 พฤษภาคม 2559 มีจำนวน 403,767 ตัน มูลค่า 186.435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 23.2 และร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 525,742 ตัน มูลค่า 223.230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2559 มีจำนวน 2.282 ล้านตัน มูลค่า 974.873 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 2.081 ล้านตัน มูลค่า 874.914 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สมาคมอาหารของเวียดนาม คาดว่าในเดือนมิถุนายน 2559 จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 450,000 ตัน โดยในช่วง ครึ่งปีแรก คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 2.7 - 2.75 ล้านตัน
ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลง สอดคล้องกับความต้องการข้าวในตลาดที่ค่อนข้างเบาบาง โดยราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% ฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter-spring rice) อยู่ที่ตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 375 - 380 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% ฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn) อยู่ที่ตันละ 365 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากตันละ 365-370 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อนจะมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ เมล็ดข้าวมีสีไม่ค่อยสดใส เพราะเกิดฝนตกในช่วงของการเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนเมษายน 2559 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 452,781 ตัน ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับจำนวน 583,059 ตัน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับจำนวน 668,117 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนเมษายน 2559 ประกอบด้วย ตลาดเอเชียจำนวน 286,884 ตัน ตลาดแอฟริกาจำนวน 93,879 ตัน ตลาดอเมริกาจำนวน 61,492 ตัน ตลาดยุโรปและเครือรัฐเอกราช (Europe and CIS countries) จำนวน 3,426 ตัน และตลาดออสเตรเลียจำนวน 7,100 ตัน ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2559 เวียดนามส่งออกข้าวขาว 15% จำนวน 29,817 ตัน ข้าวขาว 5% จำนวน 120,126 ตัน ข้าวขาว 25%
จำนวน 10,298 ตัน ข้าวหอม (Jasmine rice) จำนวน 153,667 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 112,844 ตัน ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 100% และข้าวชนิดอื่นๆ รวมจำนวน 26,029 ตัน
กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture and Rural Development) ประกาศว่า เวียดนามใกล้จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพิธีสารว่าด้วยการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนแล้ว ซึ่งกำหนดให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามต้องผ่านการตรวจสอบจากจีนจึงสามารถส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้ ซึ่งการตรวจสอบผู้ประกอบการที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนนั้น ข้าวชนิดนั้นจะต้องเพาะปลูกในพื้นที่ที่หน่วยงานตรวจสอบของจีน คือ AQSIQ (the General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of China) ให้การรับรอง และการส่งออกจะต้องผ่านการตรวจสอบว่า ปลอดจากแมลงศัตรูพืช และวัชพืชที่ทางการจีนกำหนดไว้ ทั้งนี้ กรมการอารักขาพืช (The Vietnamese Plant Protection Department) จะต้องแจ้งรายชื่อผู้ส่งออกเวียดนามให้ทางการจีนทราบและดำเนินการตรวจรับรอง โดยรายที่ผ่านการรับรองจึงจะสามารถส่งออกข้าวไปยังจีนได้ ซึ่งทางการเวียดนามระบุว่า พิธีสารใหม่นี้จะส่งผลดีต่อเวียดนาม เพราะตามกฎระเบียบเดิมที่จีนและเวียดนามลงนามไว้เมื่อปี 2547 นั้น กำหนดให้หน่วยงานของจีนเดินทางมาตรวจสอบที่เวียดนามทำให้ผู้ส่งออกเวียดนามต้องมีค่าใช้จ่าย แต่กฎระเบียบใหม่นี้ กรมการอารักขาพืชทำงานร่วมกับหน่วยงาน AQSIQ ของจีนจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายลง และส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไปประเทศจีนในช่องทางปกติ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการส่งออกตามช่องทางที่ไม่เป็นทางการ โดยกรมการอารักขาพืชจะคัดเลือกหน่วยงาน 9 แห่ง ในการดำเนินการครั้งนี้ และจะร่วมมือกับสมาคมอาหารเวียดนามเพื่อเตรียมการส่งรายชื่อผู้ส่งออกให้แก่หน่วยงานของจีนต่อไป
เลขาธิการสมาคมอาหาร ระบุว่าตามกฎระเบียบเดิมมีผู้ส่งออกที่มีความสามารถส่งข้าวไปยังประเทศจีนจำนวน 131 ราย แต่ที่สามารถส่งออกได้จริงเพียง 30 - 40 รายเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่จากจากบริษัท Vinh Phat ระบุว่ากฎระเบียบใหม่จะช่วยเพียงแค่ให้ผู้ส่งออกมีทางเลือกที่ดีกว่าในการเตรียมการส่งออกไปยังประเทศจีนเท่านั้น
หัวหน้าสำนักงานสินค้าโภคภัณฑ์และการตลาด (The Commodity and Market Unit) ซึ่งอยู่ภายใต้ IPSARD เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในปี 2558 การส่งออกของเวียดนามมีความยากลำบากอย่างมาก เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและปัญหาด้านสภาวะตลาดของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น กาแฟ กุ้ง ยางพารา และสัตว์น้ำหลายประเภท มีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น สินค้าเกษตรของเวียดนามต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เมื่อประเทศคู่แข่งดังกล่าวมีนโยบายลดค่าเงิน และแม้ว่าการค้าสินค้าเกษตรบางประเภทจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผักและผลไม้ แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมยังไม่เพิ่มขึ้น โดยปี 2558 การค้าสินค้าเกษตรของเวียดนามลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปี 2557
IPSARD เปิดเผยว่า ในปี 2559 ความยากลำบากของภาคเกษตร คือ การเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงและการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าว ยางพารา และกาแฟ แม้ว่าได้มีการคาดการณ์ว่าราคาของสินค้าเกษตรที่สำคัญจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้จากการส่งออกกลับไม่เพิ่มขึ้น
หัวหน้าสำนักงานสินค้าโภคภัณฑ์และการตลาดยังเปิดเผยว่า จีนมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณข้าวส่งออกของประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญลดลง รวมทั้งเวียดนามและไทย เพราะผลกระทบของ El Nino แต่ในอนาคตราคาข้าวส่งออกจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าไทยจะระบายข้าวสารที่เก็บไว้ในคลังเป็นจำนวนมากก็ตาม
โดยรายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (Ministry of Agriculture & Rural Development Vietnam) รายงานว่า การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ มีมูลค่า 6.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากทะเล มีมูลค่า 2.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ผลิตภัณฑ์จากป่า มีมูลค่า 2.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่มา Oryza.com
รายงานข่าวระบุว่า เอ็นทียูซีแฟร์ไพร้ส์ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของสิงคโปร์สนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์บริโภคข้าวกล้อง โดยให้ส่วนลดราคาข้าวกล้อง 5% เป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่ให้ส่วนลดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพชนิดอื่นๆ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2559
หนังสือพิมพ์ สเตรดส์ไทม์ส ระบุว่า กระแสการกินเพื่อสุขภาพในสิงคโปร์กำลังมาแรง ทำให้ยอดจำหน่ายข้าวกล้องในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ประธานเครือข่ายร้านเอ็นทียูซีแฟร์ไพร้ส์กล่าวว่า การสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคข้าวกล้องเพื่อเป็นทางเลือกที่ดีทางด้านสุขภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันและดูแลปัญหาโรคเรื้อรังของประชาชน เช่น โรคเบาหวาน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากมีการวิจัยพบว่าสิงคโปร์มีประชากรที่เป็นโรคเบาหวานในสัดส่วนต่อประชากรสูงเป็นอันดับ 2 ในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว รองจากสหรัฐอเมริกา
นอกจากเอ็นทียูซีแฟร์ไพร้ส์แล้ว สเตรตส์ไทม์สยังระบุว่า เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตค่ายอื่น คือ โคลด์สตอเรจ และเชิง เซียง มีแผนการสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคข้าวกล้องเช่นกัน โดยมีความเคลื่อนไหวของบรรดาร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเครือข่ายหลังจากที่หนังสือพิมพ์รายงานว่า มีคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพเป็นห่วงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคข้าวขาว ซึ่งปกติราคาข้าวกล้องจะแพงกว่าข้าวขาว โดยข้าวขาวขนาดถุง 5 กิโลกรัม จะจำหน่ายประมาณ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 130.25 บาท) ขณะที่ข้าวกล้องขายในราคาประมาณ 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 156.29 บาท)
นักโภชนาการซึ่งทำงานในฝ่ายสินค้าของเครือข่ายร้านโคลด์สตอเรจกล่าวว่า ขณะนี้ทางร้านได้นำข้าวกล้องกว่า 20 ยี่ห้อมาวางจำหน่ายในร้าน โดยให้ส่วนลดร้อยละ 10 - 15 จากราคาขาย เพื่อเป็นการส่งเสริมการขาย และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายข้าวขาวลดลงร้อยละ 10 ขณะที่โฆษกของเชิงเซียนกล่าวว่า ทางเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เกตของบริษัทจะจัดพื้นที่พิเศษสำหรับสินค้าที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่เดือนนี้ถึงเดือนตุลาคม 2559 โดยจะมีการแจกเอกสารแนะนำทางด้านโภชนาการและหนังสือสูตรการทำอาหารเป็น 4 ภาษา สำหรับผู้สูงอายุด้วย
ด้านนักโภชนาการจากสภาสมาคมโรคเบาหวานสิงคโปร์กล่าวว่า ร้านค้าปลีกควรจะขายข้าวกล้องในราคาใกล้เคียงกับข้าวขาว เพื่อโน้มน้าวให้คนซื้อข้าวกล้องมากขึ้น เนื่องจากราคาข้าวกล้องแพงกว่า และถ้าเป็นการบริโภคของครอบครัวใหญ่จะมีราคาแพงกว่าข้าวขาวค่อนข้างมาก ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน 2558 - 31 สิงหาคม 2559 ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 - 7 มิถุนายน 2559 EU นำเข้าแล้วประมาณ 976,208 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับจำนวน 886,967 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 77,249 ตัน ลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 79,359 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้าประมาณ 898,959 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 807,608 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 21,010 ตัน
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 - 7 มิถุนายน 2559
มีการนำเข้าประมาณ 213,935 ตัน ฝรั่งเศส 157,277 ตัน เนเธอร์แลนด์ 114,691 ตัน เยอรมนี 78,898 ตัน โปแลนด์ 70,785 ตัน และอิตาลี 72,806 ตัน เป็นต้น
ปีการผลิต 2557/58 (กันยายน 2557 - สิงหาคม 2558) สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวประมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.013 ล้านตัน ในปีการผลิต 2556/57
สำหรับการส่งออก สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานการส่งออกข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน 2558 - 31 สิงหาคม 2559) โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 - 7 มิถุนายน 2559 มีการส่งออกประมาณ 183,964 ตัน ลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 198,465 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรปส่งออกข้าวประมาณ 5,003 ตัน เป็นการส่งออกข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 150,112 ตัน ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 166,396 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica ส่งออกประมาณ 30,102 ตัน ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 28,405 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่งออกไปยังอิตาลีมากที่สุด 93,060 ตัน รองลงมาคือ สเปน 21,842 ตัน กรีซ 26,701 ตัน และโปรตุเกส 15,565 ตัน เป็นต้น
ที่มา Oryza.com
ปี 2559 ธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไนจีเรียลงเหลือเพียงร้อยละ 0.8 เนื่องจากปัญหาต่างๆ ได้แก่ 1) ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลดลง จากการก่อการร้ายที่ระเบิดท่อส่งน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2) การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบต้องปิดตัวลงหลายโรงงาน และนักธุรกิจชะลอการลงทุนทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้น 3) ภาวะภัยแล้ง ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อการบริโภค ราคาอาหารจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2559 สูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี ซึ่งอัตราการขยายตัวดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริงตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก จะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไนจีเรียที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 คาดว่าในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ไนจีเรียมีโอกาสสูงที่จะเข้าโครงการเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เนื่องจากขณะนี้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเหลือประมาณ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดว่าควรจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลไนจีเรียไม่มีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการของ IMF จึงมีความพยายามที่จะขาย พันธบัตรรัฐบาลมูลค่ารวมกันประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งกู้ยืมเงินจากสถาบัน การเงินอื่น เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (African Development Bank: AfDB) เพื่อชดเชยการขาดดุล บัญชีงบประมาณในปี 2559 ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไนจีเรีย ได้ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าบางประเภทจากไทยลดลงในปี 2559 ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สินค้าส่งออกที่สำคัญที่ไทยส่งออกไปยังไนจีเรีย คือ ข้าว ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึงร้อยละ 70 และห้ามผู้นำเข้าแลกเงินตราต่างประเทศชำระค่าสินค้าด้วย เพื่อรักษาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยไปยังไนจีเรียช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2559 มีมูลค่าเพียง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 98 จากช่วงเดียวกันของปี 2558
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับผู้นำเข้า ได้รับแจ้งว่าข้าวไทยได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากผู้นำเข้าหลายรายได้ใช้ท่าเรือในประเทศเบนินและแคเมอรูนเป็นฐานในการนำเข้าแล้วบริหารจัดการในการส่งข้าวต่อไปยังไนจีเรีย ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวไทยไปยังเบนินและแคเมอรูนเพิ่มขึ้นมาก แต่ที่จริงแล้วเป็นข้าวไทยที่ส่งไปยังไนจีเรีย โดยการส่งออกข้าวไทยช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2559 ไปยังเบนินมีมูลค่า 128.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 398.59 และแคเมอรูนมีมูลค่า 75.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.98 ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 - 19 มิ.ย.2559--