สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ
ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว คงเหลือผลผลิตคุณภาพดีไม่มาก และผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อเพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,004 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,056 บาท ใน สัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,465 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,555 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.05 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,930 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14 3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,796 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 55 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 648 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,700 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 43 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,449 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,783 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 28 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 479 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,780 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,259 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.01
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0311 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตข้าวซึ่งมีจุดแข็งในความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าว เช่น ข้าวหอม ข้าวขาว และข้าวที่มีคุณภาพพิเศษ แต่ด้วยสภาพปัญหาราคาข้าวที่ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาของพ่อค้าคนกลาง และการผันแปรตามสถานการณ์ของตลาดข้าวโลก ขณะที่แนวโน้มต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิต และความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง เนื่องจากพื้นที่นาจำนวนไม่น้อยอยู่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหันมาให้ความสนใจในการผลิตข้าวทีมีคุณภาพพิเศษเพื่อตลาดเฉพาะเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ข้าวที่มีโภชนาการสูง และข้าว Q โดยเน้นคุณภาพผลผลิตมากกว่าปริมาณ ด้วยกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ทำให้ผลผลิตที่ได้มีราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 20 ขณะที่ข้าว GI มีมูลค่าสูงกว่าข้าวสารปกติเท่าตัว ซึ่งปัจจุบันนี้ มีผลผลิตข้าวคุณภาพพิเศษเพื่อตลาดเฉพาะออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 60,000 ตันต่อปี
โฆษกกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวคุณภาพพิเศษเพื่อตลาดเฉพาะ ควบคู่กับการส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรที่ผลิตข้าวคุณภาพได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการเป็นผู้กำหนดราคาข้าว และลดขั้นตอนของพ่อค้าคนกลางให้มาเชื่อมโยงตลาดเอง จึงมองเห็นศักยภาพของตลาดข้าวในประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน
โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งทางการจีนได้แสดงเจตจำนงในการซื้อสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา รวมทั้งจะเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตรอื่นๆ จากไทยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเศรษฐกิจของภูมิภาคในระยะยาว ทำให้ไทยมีโอกาสมากขึ้นในตลาดผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยเฉพาะข้าวคุณภาพพิเศษในตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
เว็บไซต์ข่าวของรัฐบาลเวียดนามรายงานว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามในปี 2559 อาจลดลงร้อยละ 13.2 จากปีที่ผ่านมา เหลือประมาณ 5.7 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวประสบภาวะภัยแล้ง และการรุกเข้าพื้นที่การเกษตรของน้ำเค็มในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) คาดการณ์ไว้ที่ 6.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ สมาคมรายงานว่า การส่งออกข้าวช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของเวียดนาม คาดว่าจะมีประมาณ 2.73 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเวียดนามประสบกับภาวะภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งไตรมาสที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรเรียกร้องให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตเพื่อชดเชยยอดผลิตที่สูญเสียในฤดูเพาะปลูกก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการในอนาคตจากตลาดสำคัญ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คาดว่าจะยังคงมากเท่าเดิม
ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาขยับสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการซื้อขายภายในประเทศมากขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อจากจีนยังคงชะลอการซื้อในช่วงนี้ โดยราคาเอฟโอบีข้าวขาว 5% ฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter-springrice) ตันละ 370-380 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,962-13,312 บาทต่อตัน) เพิ่มจากตันละ 370-375 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ12,937-13,112 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวขาว 5% ฤดูการผลิตฤดูร้อน (the summer-autumn) ราคาตันละ 355-365 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,436-12,786 บาทต่อตัน) ลดลงจากตันละ 360-365 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12,587-12,762 บาทต่อตัน) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า ผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูการผลิตฤดูหนาว (winter-spring rice crop) จะออกสู่ตลาดประมาณร้อยละ 46 ของผลผลิตข้าวทั้งปีของเวียดนาม โดยคาดว่ามีปริมาณ 19.43 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เวียดนามได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนแล้ว (a protocol on hytosanitary requirements on Vietnamese rice and rice bran exports to China) ซึ่งกำหนดให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามจะต้องผ่านการตรวจสอบจากจีนก่อนจึงจะส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้ โดยพิธีสารนี้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา
กรมการอารักขาพืช (The Vietnamese Plant Protection Department) ได้แจ้งรายชื่อผู้ส่งออเวียดนามให้ทางการจีนทราบและดำเนินการตรวจรับรอง โดยรายที่ผ่านการรับรองแล้วจึงจะส่งออกข้าวไปยังจีนได้ การตรวจสอบข้าวจะดำเนินการตรวจสอบที่เวียดนามแทนที่จะไปตรวจที่ประเทศจีน โดยทางการจีนจะส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาและควบคุมการตรวจสอบที่เวียดนาม ที่มา Oryza.com
กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชาเตรียมห้ามนำเข้าข้าวผิดกฎหมาย และอนุญาตให้นำเข้าข้าวถูกกฎหมายจากเวียดนาม เฉพาะที่มีต้นทุนการผลิต 300-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เท่านั้น
การเคลื่อนไหวดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อกีดกันข้าวเวียดนามที่ขายต่ำกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในตลาดกัมพูชา พร้อมกำหนดให้ระบุชื่อผู้ผลิตพันธุ์ข้าว และเครื่องหมายการค้าอื่นๆ บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงด้วย เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา ให้ความเห็นว่า นโยบายใหม่จะช่วยภาคการผลิตข้าวกัมพูชาที่กำลังลำบากให้ลืมตาอ้าปากได้ หลังข้าวเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าไหลทะลักเข้ามา ทั้งยังช่วยควบคุมคุณภาพข้าวในตลาดด้วย ข้าวเวียดนามมีต้นทุน 200-300 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาต่ำกว่าข้าวขาวในประเทศแม้รวมภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วก็ตาม พร้อมเผยว่า รัฐบาลจะยกเว้นภาษีค่าแรงลูกจ้างรายวันร้อยละ 15 ให้กับผู้ผลิตข้าว และจะให้สินเชื่อ 20-30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่สมาพันธ์ข้าวกัมพูชา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตข้าวและช่วยให้องค์กรสร้างงบใช้จ่ายที่โปรงใส
เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาพันธ์ข้าวกัมพูชาได้เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ 2 เรื่อง ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ คือ การที่โรงสีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และการไหลทะลักเข้ามาของข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทพระตะบองไรซ์อินเวสท์เมนท์ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาลมักอ้างว่าช่วยเหลือภาคการผลิตข้าวตลอด แต่ในความเป็นจริงกลับช่วยเหลือไม่มาก จึงต้องการให้รัฐบาลลงมือทำอย่างจริงจังและควรจัดการกับการนำเข้าข้าวที่ไม่ถูกกฎหมายมากกว่าการนำเข้าข้าวถูกกฎหมาย ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การนำเข้าข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน 2559 - 31 สิงหาคม 2559) มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 - 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา EU นำเข้าข้าวแล้วประมาณ 1,018,629 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับจำนวน 939,870 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 80,841 ตัน ลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 84,378 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica นำเข้าประมาณ 937,788 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 855,492 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2559 สหภาพยุโรปนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 13,214 ตัน
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 - 21 มิถุนายน 2559 มีการนำเข้าประมาณ 222,265 ตัน ฝรั่งเศส 163,507 ตัน เนเธอร์แลนด์ 118,099 ตัน เยอรมนี 82,862 ตัน โปแลนด์ 74,819 ตัน อิตาลี 75,181 ตัน ในปีการผลิต 2557/58 (กันยายน 2557 – สิงหาคม 2558) สหภาพยุโรป นำเข้าข้าวประมาณ 1.143 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.013 ล้านตัน ในปีการผลิต 2556/57
ด้านการส่งออก สหภาพยุโรป (the European Union; EU) รายงานว่า การส่งออกข้าวในปีการผลิต 2558/59 (1 กันยายน 2558 - 31 สิงหาคม 2559) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 - 21 มิถุนายน 2559 มีการส่งออกประมาณ 193,263 ตัน ลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับจำนวน 203,915 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2559 สหภาพยุโรปส่งออกข้าวประมาณ 3,426 ตัน
โดยเป็นการส่งออกข้าวสายพันธุ์ Japonica ประมาณ 162,029 ตัน ลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับจำนวน 174,729 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้าวสายพันธุ์ Indica ส่งออกประมาณ 31,234 ตัน ลดลงร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับจำนวน 29,186 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศอิตาลีถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด โดยส่งออกแล้ว 97,572 ตัน สเปน 22,683 ตัน กรีซ 28,379 ตัน โปรตุเกส 16,318 ตัน เป็นต้น ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 27 มิ.ย. – 3 ก.ค. 2559--