สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
การตลาด
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท
(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)
(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิตจำนวน 3 โครงการดังนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)
(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)
(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)
— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการดังนี้
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)
(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)
(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)
(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อการส่งมอบให้กับประเทศคู่ค้า ประกอบกับปีนี้เกิดภัยแล้งทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,128 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,184 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50
ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,690 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,599 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.06
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 823 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,729 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,677 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 633 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,097 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 648 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,647 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.31
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,394 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,766 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 494 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,245 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 493 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,199 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9081 บาท
สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนามคาดยอดส่งออกข้าวปี 2559 ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนามมีการส่งออกข้าวลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม และในเดือนมิถุนายนส่งออกได้เพียง 380,000 ตัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 2.65 ล้านตัน มูลค่า 1,140 ล้านดอลลาร์ฯ สหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สมาคมอาหารเวียดนาม คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 ยอดการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งหมายความว่า ยอดรวมการส่งออกตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 5.65 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นยอดต่ำสุดในรอบ8ปี และเป็นครั้งแรกที่การส่งออกข้าวของประเทศต่ำกว่า 6ล้านตันแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีการส่งออกข้าวเวียดนามจะมีทิศทางที่ดี แต่ก็เป็นการจัดส่งตามคำสั่งซื้อจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งคำสั่งซื้อข้าวจากอินโดนีเซีย 1ล้านตัน และจากฟิลิปปินส์ 450,000ตัน ทั้งนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่า การขาดแคลนคำสั่งซื้อใหม่ และการแข่งขันอย่างดุเดือดจากประเทศผู้ส่งออกข้าวเอเชียรายอื่นๆ ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วงไตรมาสที่สอง ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (Department of Agriculture: DA) กำลังมองหาแหล่งนำเข้าข้าวเพิ่มจากประเทศอื่น เช่น เมียนมาร์ และญี่ปุ่น เนื่องจากประเมินว่าในปี 2559 ฟิลิปปินส์จะขาดแคลนข้าวประมาณ 1.8 ล้านตัน โดยองค์การอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์มีแผนที่จะนำเข้าข้าวประมาณ 500,000 ตัน ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์อาจจะซื้อข้าวต่อจากญี่ปุ่น ซึ่งปกติจะนำเข้าข้าวเมล็ดยาวภายใต้การนำเข้าขั้นต่ำของรัฐบาล (Minimum Access Volume: MAV) หากมีการศึกษาระเบียบของ WTO แล้วว่าสามารถดำเนินการได้
หนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์เดลี่ เอ็นไควเรอร์ รายงานว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี ดูเตอร์เต ประกาศว่าจะผลิตข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศร้อยละ 100 ภายใน 2 ปี
โดยแหล่งข่าวระบุว่า นายเอ็มมานูเอล เอฟ. พีนอล (Emmanuel F Pinol) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรในรัฐบาลประธานาธิบดี ดูเตอร์เต ตั้งเป้าให้ประเทศฟิลิปปินส์ผลิตข้าวพอบริโภคในประเทศ ภายใน 2 ปีข้างหน้า ด้วยการสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าว 4 ครั้งต่อปี โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการเกษตรของกรมการเกษตรในแต่ละภูมิภาคของประเทศเป็นผู้ดูแล และถ้าใครทำไม่สำเร็จจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลดูเตอร์เต คือ การปลูกข้าวให้พอบริโภคโดยไม่กำหนดเป้าหมายปริมาณการผลิต และดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ปี ในสมัยที่ตนเป็นประธานาธิบดีอย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพีนอล ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การปลูกข้าวให้พอกินเป็นงานยากแต่ทำให้สำเร็จได้ โดยจะต้องทำให้สำเร็จภายใต้การนำของนายดูเตอร์เต ที่ผู้อำนวยการเกษตรภูมิภาคจะต้องเป็นผู้ดูแลในพื้นที่ของตนเองให้สำเร็จภายใน 2 ปี มิฉะนั้น “บางคนผมต้องเซย์กู๊ดบายถ้าทำไม่สำเร็จ ส่วนที่เหลือจะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อดูผลงานในงานใหม่ที่ได้รับมอบหมาย”รัฐมนตรีเกษตรคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ระบุว่า จะให้การสนับสนุนโครงการปลูกข้าวอย่างเต็มที่ทั้งระบบชลประทาน เมล็ดพันธุ์ที่ดี ปุ๋ย และสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในการเพาะปลูก “แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องถูกปลด เพราะรัฐบาลชุดนี้ดูที่ผลงานเป็นหลัก ใครที่ทำงานในรัฐบาลชุดนี้ และไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่มีสิทธิ์ทำงานต่อไป” นายพินอล กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรจะต้องเดินหน้าต่อจากพื้นฐานที่รัฐมนตรีเกษตรคนก่อนหน้า (นายโปรซีโซ อัลคาลา) สร้างไว้แต่ยังไปไม่ถึงเป้า โดยหนังสือพิมพ์ ฟิลิปปินส์เอ็นไควเรอร์ ระบุว่า นายอัลคาลา รัฐมนตรีเกษตรของรัฐบาลนายอาคิโนทำสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่สามารถผลิตข้าวให้พอบริภาคภายในปี 2556 ตามที่ประกาศไว้ตอนรับตำแหน่งเมื่อกลางปี 2553 แต่ก็ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 81 ของความต้องการบริโภครวมในช่วงที่รับตำแหน่ง เป็นร้อยละ 97 ซึ่งในปัจจุบันนับว่าใกล้สู้จุดที่พึ่งพาตัวเองได้แล้ว ที่มา Oryza.com
กระทรวงเกษตรอินเดีย รายงานว่า ความคืบหน้าของการเพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิตหลัก (Kharif (main) rice crop) ในปีการผลิต 2559/60 (ระหว่างเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2559) ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 51.2 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับ 48.3 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ (minimum support price for kharif crops) สำหรับฤดูการผลิตหลัก ปีการผลิต 2559/60 (กรกฎาคม 2559 – มิถุนายน 2560) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3 - 4 โดยข้าวเปลือกเกรดธรรมดา กำหนดราคาที่ 14,700 รูปีต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 14,100 รูปีต่อตัน เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2558/59 ขณะที่ข้าวเปลือกเกรด A กำหนดราคาที่ 15,100 รูปีต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 14,500 รูปีต่อตัน เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2558/59 ที่มา Oryza.com
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 11 - 17 ก.ค. 2559--