ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2016 10:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

การตลาด
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
2.1)มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

2.2)มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.) 2.3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดแล้ว และผู้ประกอบการส่งออกบางรายรอที่จะประมูลข้าวในสต็อกจากโครงการรัฐบาลที่ผ่านมา

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,089 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,119 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,699 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,691 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท

ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7189 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเปลือกฤดูนาปีนี้ยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ตัวเลขความต้องการใช้ของกระทรวงพาณิชย์ที่พยายามปรับลดปริมาณลงเหลือ 25 ล้านตันข้าวเปลือก จากผลผลิต 27 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ผลผลิตข้าวต่ำสุดจากปกติได้ผลผลิตประมาณ 30-33 ล้านตัน ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวในแถบภาคกลาง เช่น พิษณุโลก อ่างทอง สิงห์บุรี ได้เลื่อนการเพาะปลูกโดยเริ่มปลูกในเดือนกรกฎาคม ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหายไปประมาณร้อยละ 10-20 ดังนั้นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง คือ 1) ปริมาณน้ำฝนฤดูนาปี ปี 2559/60 ซึ่งหากในช่วงเดือนกันยายนยังคงมีฝนมากจะส่งผลดีต่อผลผลิตข้าวนาปี แต่หากฝนทิ้งช่วงจะส่งผลกระทบต่อการปลูกในปีนี้ 2) ภาวะการส่งออก หากในช่วงครึ่งปีหลังไทยมีคำสั่งซื้อข้าวสารแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และมีการส่งออกข้าวช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะเป็นแรงหนุนให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 9,300-10,000 บาท และได้รับผลดีจากผู้ส่งออกข้าวนึ่งที่เร่งซื้อข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปส่งมอบลูกค้า ล่าสุดรัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้โรงสีข้าวเข้าร่วมโครงการดูแลเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี ปี 2559/60 โดยให้โรงสีช่วยซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 นอกจากนี้ยังขอให้โรงสีช่วยรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ด้วย

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีแรก มีปริมาณ 5.1 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งส่งออกปริมาณ 4.5 ล้านตัน จากที่ตั้งเป้าส่งออกไว้ 9.5 ล้านตัน โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากไทยสามารถส่งออกข้าวแบบ G to G ให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีนได้มากขึ้น โดยสมาคมฯ ประเมินว่า ในช่วง 1-2 เดือนนี้ยังเป็นจังหวะที่ควรระบายข้าวสารเก่าในสต็อกรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าวคนละตลาดกับข้าวในฤดูกาลใหม่ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อราคา และยังสามารถระบายข้าวออกมาได้ต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน นั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวนึ่งในช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณ 1 ล้านตัน คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถส่งออกได้ 1 ล้านตัน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปริมาณข้าวเปลือกในตลาดลดลงทำให้ขาดวัตถุดิบ ผู้ส่งออกข้าวนึ่งจึงต้องสู้ราคา ส่งผลให้ราคาข้าวนึ่งในประเทศขยับขึ้นสูงสุดที่ตันละ 16,000 บาท จากเดิม 13,000 บาท แต่ขณะนี้สถานการณ์กลับสู่ปกติแล้ว ส่วนภาวะตลาดส่งออกหลัก ทั้งแอฟริกาและตลาดตะวันออกกลางยังไม่ฟื้นจากปัญหาราคาน้ำมันลดลง และไนจีเรียห้ามส่งเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งที่น่ากังวลคือ ราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามตันละ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาข้าวขาวไทยอยู่ที่ตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเวียดนามอยู่ที่ตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การแข่งขันในช่วงครึ่งปีหลังมีความรุนแรงมากขึ้น ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

สิงคโปร์

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นแหล่งซื้อขายข้าวที่สำคัญของโลก ซึ่งมีบริษัทผู้ค้าข้าว (Trader) ต่างชาติมาตั้งสำนักงานจำนวนมาก ซึ่งเทรดเดอร์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญและเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนและนำเข้าข้าวจากประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกไปขายให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกลาง โดยสิงคโปร์นำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อบริโภคภายในประเทศเฉลี่ยปีละ 4.50 แสนตัน โดยมีแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญ คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งในแต่ละปีสิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ยปีละ 1.38 แสนตัน โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิปี 2558 สิงคโปร์นำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 1.2 แสนตัน ลดลงจากปี 2557 ที่นำเข้าปริมาณ 1.61 แสนตัน หรือลดลงร้อยละ 20.3 เนื่องจากราคาข้าวไทยสูง ทำให้ข้าวหอมจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม และอินเดียเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในสิงคโปร์ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้แทนการค้าภาครัฐ และเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2559

นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หวังว่า ไทยจะสามารถทวงส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิกลับคืนจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามได้ เพราะในอดีต (5 ปีที่ผ่านมา) ไทยเคยส่งออกข้าวไปสิงคโปร์ปีหนึ่งปริมาณ 1.8 แสนตัน แต่ปี 2558 ไทยส่งออกลดลงเหลือ 1.28 แสนตัน ซึ่งถือว่าลดลงเรื่อยๆ ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เห็นได้จาก 5 ปีก่อน เวียดนามส่งออกข้าวเพียง 9 หมื่นตัน แต่ปัจจุบันสามารถส่งออกไปสิงคโปร์ 1.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สาเหตุหลักๆ คือ ราคาข้าวไทยแพงขึ้น ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวหอมมะลิจากประเทศอื่นแทน ดังนั้นการไปสิงคโปร์ครั้งนี้ ไทยจะได้ส่วนแบ่งตลาดกลับมาบ้าง อีกทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อในระดับหนึ่ง

ปี 2559 (5 เดือนแรกของปี) ไทยส่งออกข้าวไปสิงคโปร์ปริมาณ 5.1 หมื่นตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ส่งออก 5.5 หมื่นตัน แม้ว่าตัวเลขจะไม่มากแต่ก็เป็นตลาดที่สำคัญของไทย

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 25 – 31 ก.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ