เผยผลพัฒนาเกษตรอินทรีย์ สศก. แจงผลรอบ 9 เดือน ยโสธรโมเดล-เกษตรอินทรีย์ทั่วไปได้ผลจริง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลติดตามการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เผย การดำเนินงานทั้งยโสธรโมเดล และเกษตรอินทรีย์ทั่วไป เกษตรกรพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ได้รับการถ่ายทอดความรู้และนำไปปรับใช้จริง แต่บางส่วนยังเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์มีความยุ่งยากและตลาดรองรับยังมีจำกัด แนะภาครัฐขับเคลื่อนต่อเนื่อง วอนเกษตรกรหันมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินนโยบายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยกำหนดเป้าหมาย ยโสธร Model มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 20,000 ไร่ และพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั่วไปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่ง สศก. ติดตามการดำเนินงาน รอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภาค 15 จังหวัด แบ่งเป็นยโสธร Model สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างในจังหวัดยโสธร จำนวน 57 ราย และเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั่วไป สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างใน 14 จังหวัด จำนวน 672 ราย ในช่วงระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2559 พบว่า
ผลการดำเนินการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และจัดทำโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ในช่วงปีเพาะปลูก 2559 - 2561 มีเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 100,000 ไร่ เกษตรกร 10,000 ราย ในชุมชน 89 ชุมชน ที่ผลิตข้าว พืชหลังนา สมุนไพร ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมบูรณาการถ่ายทอดความรู้ โดยพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 84 ได้รับการถ่ายทอดความรู้ในด้านการเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรมีการนำความรู้ไปใช้ในการผลิตข้าวอินทรีย์ครบทุกราย นอกจากนี้ เกษตรกรร้อยละ 81 ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ (ถังหมัก กากน้ำตาล ปุ๋ยคอก พด.สูตรต่าง ๆ) เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด (ปอเทือง ถั่วพร้า) และเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 63 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก ระดับปานกลาง ร้อยละ 30 และระดับน้อยร้อยละ 7 เนื่องจากยังเห็นว่าการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีขั้นตอนและข้อกำหนดที่ยากต่อการปฏิบัติ (เกษตรกรกลุ่มใหม่)
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวถึงผลการติดตามการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทั่วไปว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 79 ได้รับการอบรมความรู้ในหลักสูตรการเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และร้อยละ 98 ได้นำความรู้ที่ไปใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว โดยในปี 2559 เกษตรกรร้อยละ 21 ขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และร้อยละ 79 ไม่ขอรับรองมาตรฐาน เนื่องจากอยู่ในระยะปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 38 ได้รับการตรวจรับรองแล้ว และร้อยละ 62 อยู่ระหว่างรอการตรวจรับรองมาตรฐานจากหน่วยตรวจรับรอง ทั้งนี้ ในภาพรวม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 72 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก และร้อยละ 28 ระดับปานกลาง เนื่องจากเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์มีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก และตลาดรองรับยังจำกัด
อย่างไรก็ตาม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการเข้าไปส่งเสริม ให้ความรู้การผลิตแบบอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงเครือข่าย และตัวเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต และศึกษาระบบขั้นตอนการผลิตอินทรีย์ให้มากขึ้นเพื่อให้สินค้าที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
**********************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--