ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 9, 2016 14:53 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษา เสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60
2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

2.3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.) ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,120 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,089 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,966 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,699 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.06

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 804 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,807 บาท/ตัน)

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 642 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,204 บาท/ตัน)

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,460 บาท/ตัน)

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,803 บาท/ตัน)

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 471 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,290 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.5856 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย-สิงคโปร์

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือกับกลุ่มผู้ค้าข้าว หรือ Traders และผู้นำเข้าข้าวของสิงคโปร์ว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกว่า 10 ราย ได้ยืนยันนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันถึงการดูแลข้าวในประเทศ จะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงราคาข้าวผ่านนโยบายการรับจำนำข้าว แต่จะดูแลให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และรักษาคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐาน อีกทั้งมั่นใจว่าตลาดข้าวไทยในสิงคโปร์ ปี 2559 จะกลับมาครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ได้ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 130,000 ตัน นอกจากนี้ได้หารือถึงสถานการณ์ตลาดข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง และแนวโน้มราคาสินค้าอื่นๆ ด้วย โดยผู้ค้าข้าวและผู้นำเข้าข้าวยังต้องการให้กระทรวงพาณิชย์วางแนวทางหรือแผนการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลไว้ล่วงหน้า เนื่องจากต้องยอมรับว่าช่วงที่มีการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลไทยนั้น ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคในการส่งออกข้าวเก่าไปในตลาดแอฟริกา การทราบล่วงหน้าถึงแผนการระบายข้าวในสต๊อกก็เพื่อจัดทำแผนการตลาดข้าวเก่าในตลาดแอฟริกาต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดข้าวไทยในสิงคโปร์ช่วงครึ่งปีแรกสามารถส่งออกได้กว่าร้อยละ 50 และเชื่อว่าครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้

สำหรับการทำตลาดข้าวไทยในฤดูกาลหน้า ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนดีขึ้นส่งผลดีต่อผลผลิตข้าว คาดว่าผลผลิตจะออกมาดีทั้งของไทย อินเดีย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งจะมีผลผลิตออกมาพร้อมกัน ดังนั้นในเร็วๆ นี้ จะมีการหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องถึงแผนการทำตลาดข้าว พร้อมเดินสายโปรโมตข้าวในต่างประเทศ ทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ต่อไป รวมทั้งเน้นการทำตลาดข้าวเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น ทั้งข้าวอินทรีย์ ข้าวออร์แกนิก และข้าวสีของไทย เนื่องจากได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในสิงคโปร์ถูกอินเดียและเวียดนามดึงส่วนแบ่งตลาดไปมาก ปัจจุบันไทยครองส่วนแบ่งข้าวในตลาดสิงคโปร์ที่ร้อยละ 30 หรือปริมาณ 1.28 แสนตัน จากเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 60 ซึ่งอยู่ในช่วงก่อนการดำเนินนโยบายจำนำข้าว ขณะที่ข้าวบาสมาติของอินเดียมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 หรือปริมาณ 1.7 แสนตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2-3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากที่เคยส่งออกได้เพียง 5.7 หมื่นตันเท่านั้น โดยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกข้าวไทยกังวล เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปและเริ่มให้การยอมรับการบริโภคข้าวอินเดียมากขึ้น

ปัจจุบันราคาข้าวไทยและข้าวอินเดียมีราคาใกล้เคียงกันมาก โดยข้าวอินเดียอยู่ที่ตันละ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ราคาข้าวมีความแตกต่างกันมาก อาจจะทำให้การทำตลาดข้าวไทยลำบากขึ้นโดยเฉพาะปัจจุบันข้าวหอมมะลิไทยอยู่ระดับที่ 98% ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ทำไม่ได้และต้องการให้ยกเลิก และคงให้เหลือเพียงข้าวหอมะลิ 92% เท่านั้น ที่จะเป็นข้าวพรีเมี่ยม

นอกจากนี้ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เดินทางเยือนประเทศผู้นำเข้าข้าวอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศในเอเชีย ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าและขยายปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวให้เพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งเป้าการส่งออกข้าวในเอเชียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 เนื่องจากเห็นแนวโน้มการเติบโตและความต้องการบริโภคข้าวไทยมากขึ้น

นายโฮ เซียง อาว ผู้จัดการบริษัท WTC จำกัด 1 ใน 7 ผู้นำเข้าและผู้ค้าของสิงคโปร์ ที่เข้าร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ยอมรับว่าในปี 2559 ความต้องการเพิ่มขึ้น และความนิยมข้าวไทยของผู้บริโภคสิงคโปร์ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ต้องการให้ผู้ส่งออกข้าวไทยคงคุณภาพข้าวหอมมะลิไว้เพื่อรักษาตลาดข้าวไทยในตลาดสิงคโปร์ และมุ่งทำตลาดเพื่อโปรโมตข้าวให้มากขึ้น ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

เวียดนาม

เวียดนามนิวส์รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เวียดนามส่งออกข้าว 1.425 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ขณะที่สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวในไตรมาสที่ 2 ประมาณ 1.5 ล้านตัน (รวมการส่งออกข้าวของ 2 ไตรมาสเป็น 2.925 ล้านตัน แต่ผลการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 2 มีเพียง 1.232 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ไม่บรรลุผลตามที่คาดการณ์ไว้)

ตามรายงานของ VFA ผลการส่งมอบข้าวในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ปริมาณ 380,002 ตัน มูลค่า 172.906 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ 2.657 ล้านตัน มูลค่า 1.145 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 2 และร้อยละ 1.13 ตามลำดับ (ไม่รวมการซื้อขายผ่านชายแดน) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วง 6 เดือนแรก ที่ 269,000 ตัน และต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 54,000 ตัน ตลาดส่งออกข้าว 6 เดือนแรกของปี 2559 ประกอบด้วย ทวีปเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 77 ลดลงร้อยละ 5.4 ทวีปแอฟริกา คิดเป็นร้อยละ 16.43 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.75 ทวีปอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 11.86 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกหลัก เช่น จีน คิดเป็นร้อยละ 34.85 ของปริมาณข้าวที่ส่งออกทั้งหมด (ลดลงร้อยละ 9.15) ฟิลิปปินส์ คิดเป็นร้อยละ 7.83 ลดลงร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สิ่งที่น่าสังเกต คือ คุณภาพข้าวที่ส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก มีการเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 กล่าวคือ ข้าวขาว 5% และ 25% ลดลงเกือบร้อยละ 30 แต่ข้าวขาว 15% เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 18 ข้าวหอมเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 และข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นร้อยละ 145

นายฮวิ่ง มิง เหวะ เลขาธิการของ VFA กล่าวว่า ปี 2559 การส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 2 ไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากยังไม่เข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวของช่วงฤดูร้อน-ใบไม้ร่วง โดยปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้าในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ราคาประมาณ 5,100 -5,200 ด่งต่อกิโลกรัม ข้าวเปลือกเจ้าเม็ดยาว ราคาประมาณ 5,400 -5,500 ด่งต่อ กิโลกรัม ข้าวเปลือกเจ้าขาว 5% ราคาประมาณ 6,800 -6,900 ด่งต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ข้าวขาว 5% ราคาประมาณ 7,600 -7,700 ด่งต่อกิโลกรัม ข้าวขาว 15% ราคาประมาณ 7,400 -7,500 ด่งต่อกิโลกรัม และข้าวขาว 25% ราคาประมาณ 7,250 - 7,350 ด่งต่อกิโลกรัม กระทรวงการคลัง ระบุว่า ต้นทุนการผลิตข้าวในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ ปี 2558-2559 อยู่ที่ 3,417 ด่งต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงปี 2559 อยู่ที่ 4,100 ด่งต่อกิโลกรัม ลดลงเกือบร้อยละ 6.31 เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อคำนวณแล้วเกษตรกรได้กำไรประมาณ 1,300 – 1,400 ด่งต่อกิโลกรัม

การประชุมสรุปผลการส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรก และการกำหนดแผนการส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนหลัง ของปี 2559 ที่จัดขึ้นในนครโฮจิมินห์ VFA ได้ปรับลดแผนการส่งออกข้าว โดยคาดการณ์ว่าปริมาณส่งออกข้าวในช่วง 2 ไตรมาสหลัง มีปริมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 (คาดการณ์ส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 3 และที่ 4 อยู่ที่ 1.2 ล้านตัน และ 1.8 ล้านตัน ตามลำดับ) สำหรับการส่งออกข้าวตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 5.65 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2558 (ยังไม่รวมการค้าผ่านแดน) และต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 900,000 ตัน

นายเลิม ต๋วน แอง ผู้จัดการบริษัท Thinh Phat จำกัด กล่าวว่า VFA คาดการณ์การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ที่ 3 ล้านตัน สามารถเป็นไปได้เพราะปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามประมาณ 370-375 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1 -7 ส.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ