ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2016 15:10 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

2.1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

2.2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

2.3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้คงเหลือผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดไม่มาก และผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อข้าว เพื่อรอผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,012 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,120 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,717 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,966 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.78

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 774 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,813 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 804 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,807 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.73

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 642 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,204 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,965 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,460 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.36

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,480 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,803 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.34

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,277 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 471 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,290 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.37

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.6417 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ไทย

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ประเมินการส่งออกข้าวไทยในปี 2560 ว่า ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 9 ล้านตัน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22 รองลงมา คือ อินเดีย ปริมาณ 8.50 ล้านตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21 และเวียดนามส่งออก 7 ล้านตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17 โดยภาพรวมการส่งออกข้าวในตลาดโลกปี 2560 จะปรับตัวลดลงในหลายประเทศ เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ ปี 2559/60 เพิ่มขึ้น กระทบต่อแนวโน้มราคาข้าวในตลาดปรับตัวลดลง ประกอบกับในตลาดมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น

ปี 2559 USDA ประเมินการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 9.80 ล้านตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 24 อินเดียส่งออก 9 ล้านตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22 และเวียดนาม 6.90 ล้านตัน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17 ซึ่งปัจจัยในการแข่งขันตลาดข้าวปี 2560 คือราคา เนื่องจากปริมาณข้าวล้นตลาด ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวปรับตัวลดลง แต่อยู่ในระดับราคาเท่าไร ไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องพิจารณาในหลายปัจจัยประกอบ และสิ่งที่กังวลเพิ่มเติมคือ ราคาข้าวไทยกับคู่แข่งจะต่างกันมาก จะกระทบต่อการแข่งขันราคาข้าวในตลาด

ขณะที่ผู้ซื้อข้าวในตลาดเท่าเดิมและมีแนวโน้มนำเข้าลดลง โดยเฉพาะในตลาดหลักของไทย เช่น แอฟริกา ไนจีเรีย ซึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจจึงส่งผลต่อการนำเข้าข้าว ส่วนปัจจัยอื่น เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง นโยบายของรัฐบาลในการระบายข้าวและช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะระบายข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมปริมาณ 4-5 ล้านตัน ต้องการให้รัฐบาลบริหารจัดการอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ปริมาณข้าวเข้ามาในตลาด และสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและผู้นำเข้าด้วยว่าจะไม่มีปัญหา และหากสามารถระบายได้เชื่อว่าสต็อกข้าวที่เหลือ 6-7 ล้านตัน รัฐบาลสามารถบริหารและจัดการได้

“แนวโน้มการนำเข้าข้าวของประเทศผู้นำเข้าในปี 2560 คาดว่าจะมีการนำเข้าลดลง หรือปริมาณเทียบเท่ากับ ปี 2559 โดย USDA ประเมินว่าการนำเข้าข้าวของจีนมีปริมาณ 5 ล้านตัน จากปี 2559 นำเข้า 5 ล้านตัน ไนจีเรียนำเข้า 1.90 ล้านตัน จากปี 2559 นำเข้า 2.10 ล้านตัน อินโดนีเซียนำเข้า 1.25 ล้านตัน จากปี 2559 นำเข้า 1.85 ล้านตัน มาเลเซียนำเข้า 1.05 ล้านตัน จากปี 2559 นำเข้า 1.02 ล้านตัน และแอฟริกานำเข้า 9.3 แสนตัน จากปี 2559 นำเข้า 1 ล้านตัน”

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี2559 คาดว่ายังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวนาปี 2559/60 ภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผลผลิตข้าวของไทย แต่รวมไปถึงข้าวอินเดีย เวียดนาม และปากีสถานด้วย ที่จะต้องมีการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาข้าวปรับตัวลดลง

สำหรับปริมาณข้าวในประเทศไทย โดยเฉพาะข้าวเปลือกในพื้นที่อีสานคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 16-17 ล้านตัน ส่วนข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 ซึ่งมีผลทั้งราคาข้าวภายในประเทศและราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คาดว่าประเทศผู้นำเข้าทั้งจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน จะมีการนำเข้าข้าวในช่วงครึ่งปีหลังทำให้ปริมาณข้าวในตลาดถูกระบายออกไปต่างประเทศ

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

กัมพูชา

ข้าวถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา และที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามผลักดันการปลูกและส่งออกข้าวให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ และมีเป้าหมายการส่งออกประมาณ 1 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม อนาคตการปลูกข้าวและส่งออกของกัมพูชาดูไม่ค่อยสดใส หลังจากที่สหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มที่จะลดเป้าหมายการนำเข้าจากกัมพูชา

การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กัมพูชาพัฒนาตัวเองจากลุ่มประเทศรายได้น้อยมาเป็นกลุ่มประเทศรายได้น้อย-ปานกลาง ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (The Least Developed Countries-LDC) ของอียู ขณะที่อียูได้พยายามปรับลดโควตาการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศดังกล่าว ทำให้มีแนวโน้มว่าอียูน่าจะปรับลดการนำเข้าข้าวจากกัมพูชา โดยรายงานจากแขมร์ไทมส์เผยว่า เจ้าหน้าที่การค้าจากอียูแนะนำให้กัมพูชามองหาตลาดใหม่ เพื่อชดเชยการส่งออกที่ลดลง โดยคาดว่าหลังจากนี้ อียูอาจลดการนำเข้าข้าวจากลุ่มประเทศ LDC เหลือประมาณ 300,000 - 350,000 ตันต่อปี ซึ่งหมายความว่า ข้าวของกัมพูชาจะต้องแข่งขันกับข้าวจากเมียนมาร์ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ LDC เช่นกัน

จากสถิติสมาคมผู้ค้าข้าวกัมพูชาระบุว่า การส่งออกข้าวของประเทศในปีที่แล้วประมาณ 538,396 ตัน โดยจำนวนนี้ร้อยละ 43 ส่งออกไปอียู

การเจรจาการค้าทวีภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กัมพูชาได้ร้องขอให้ทางการจีนเพิ่มโควตานำเข้าข้าวากกัมพูชาเป็น 2 เท่า ซึ่งทางการจีนยินดีรับคำร้องขอ และเตรียมนำเข้าเพิ่มอีก 200,000 ตัน จากเดิมที่นำเข้าเพียง 100,000 ตัน

รองประธานสมาคมผู้ค้าข้าวระบุว่า การเพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาของจีนถือเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมการแข่งขันของตลาดข้าวกัมพูชาในระดับโลก โดยปัญหาของกัมพูชาที่ผ่านมาคือ ถึงแม้จะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพแต่ถือว่ามีราคาแพงเมื่อเทียบกับข้าวจากประเทศคู่แข่ง โดยข้าวจากกัมพูชามีราคาประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ดังนั้นจากโอกาสที่จะได้โควตาส่งออกข้าวไปจีนเพิ่มขึ้น กัมพูชาจึงเตรียมการส่งออกให้ได้ปีละ 1 ล้านตัน นักวิเคราะห์และวางแผนการค้าข้าวในกัมพูชา ระบุว่า ราคาข้าวที่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรประสบปัญหา รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางขาดแคลนเงินทุนในการบริหารจัดการ

จากสถิติองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ปีนี้จะมีการค้าข้าวทั่วโลกประมาณ 43.9 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนที่ผลิตได้ทั่วโลก สะท้อนภาวะ “การผลิตล้น” เกินความต้องการของตลาดโลก เพราะกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น บังคลาเทศ จีน ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา มีแนวโน้มจะนำเข้าข้าวลดลง

โดยช่วงที่ผ่านมา การส่งออกข้าวกัมพูชาได้รับผลกระทบจากดีมานด์ที่ลดลง ส่งผลให้ส่งออกลดลงร้อยละ 6 เวียดนามลดลงร้อยละ 32 และเมียนมาร์ลดลงร้อยละ 62

ผลจากราคาข้าวที่ลดลง ทำให้เกษตรกรชาวกัมพูชาหลายคนเปลี่ยนไปปลูกผักออร์แกนิกแทน เนื่องจากมีรายได้ที่ดีกว่า ทั้งยังใช้เวลาเก็บเกี่ยวน้อย

จากสถิติธนาคารโลก ระบุว่า ผักออร์แกนิกสร้างรายได้ราวเฮกตาร์ละ 1,575 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับการปลูกมันสำปะหลังที่มีรายได้ 544 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ และข้าว 307 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารโลกจะแนะนำให้เกษตรกรกัมพูชาเปลี่ยนไปปลูกผักประเภทอื่นเพื่อสร้างรายได้แทนข้าว แต่หลายคนก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เนื่องจากคุ้นเคยกับแนวทางการทำเกษตรแบบเดิม

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 - 14 ส.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ