สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 เปิดผลศึกษาแนวทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์จังหวัดพัทลุง เผย กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ มีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 557 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่ากลุ่มผู้ปลูกข้าวทั่วไปแบบใช้สารเคมีและกลุ่มที่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยน ย้ำ การทำเกษตรอินทรีย์ ต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรอย่างจริงจัง ในการเปลี่ยนค่านิยมและความเชื่อสู่วิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลศึกษาแนวทางพัฒนาเกษตรอินทรีย์จังหวัดพัทลุง ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ศึกษาสินค้าข้าวอินทรีย์ ตามแผนงานของมาตรการเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดพัทลุงที่ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก คือ อำเภอควนขนุน และให้ความสำคัญกับสินค้าข้าวเป็นลำดับแรก
การศึกษาครั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลจากกรณีศึกษาเชิงกลุ่มประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งจากกลุ่มที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มที่ยังไม่ได้การรับรอง นอกจากนี้ ยังศึกษาข้อมูลจากตัวอย่างเกษตรกรรายย่อย ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้ใบรับรองแล้วและเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วไปแบบใช้สารเคมี เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านการผลิต รวมทั้งความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยแวดล้อมภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อศักยภาพในการพัฒนาข้าวอินทรีย์ของจังหวัด เพื่อให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ และการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระดับจังหวัด
ผลจากการศึกษา พบว่า กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ มีประสิทธิภาพการผลิตดีที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลผลิตที่ได้รับและรายจ่ายเงินสดที่ใช้ในการเพาะปลูกข้าวนาปี โดยกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์มีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 557 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายจ่ายเงินสดจากการเพาะปลูกข้าวเฉลี่ย 2,004 บาทต่อไร่ ในขณะที่กลุ่มผู้ปลูกข้าวทั่วไปแบบใช้สารเคมี มีผลผลิตเฉลี่ย 535กิโลกรัมต่อไร่ มีรายจ่ายเงินสดจากการเพาะปลูกข้าวเฉลี่ย 2,435 บาทต่อไร่ ส่วนกลุ่มที่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีเป็นการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีผลผลิตเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ 534 กิโลกรัมต่อไร่ โดยมีรายจ่ายเงินสดจากการเพาะปลูกข้าวเฉลี่ย 2,216 บาทต่อไร่ ตามลำดับ
ด้านนายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 กล่าวถึงศักยภาพการผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ สภาพแวดล้อมเหมาะกับการปลูกข้าวอินทรีย์กระจายในหลายพื้นที่ โดยมีศูนย์เรียนรู้การผลิตข้าวคุณภาพทั่วทุกพื้นที่ มีเกษตรกรต้นแบบที่พึ่งตนเองด้านพันธุ์ข้าวและสามารถบริหารจัดการกลุ่มตนเองได้ มีศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่และมีศูนย์เรียนรู้ดินและปุ๋ยชุมชนทุกตำบล มีวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจร มีข้าวสังข์หยดที่มีข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งบุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังมีความเชื่อมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น จึงมีศักยภาพที่จะขยายผลในการเพิ่มผลผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเพิ่มมูลค่าจากสินค้าได้
สำหรับข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ภาครัฐควรส่งเสริมและต่อยอดการวิจัยด้านเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างโอกาสหรือจัดหาตลาดรับซื้อข้าวอินทรีย์ที่มีราคาสูงกว่าข้าวตามท้องตลาดทั่วไป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำนาแบบอินทรีย์มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มและพัฒนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เองและมีการประกันราคาผลผลิตที่แน่นอน
ทั้งนี้ การพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร ยังจำเป็นต้องมีปัจจัยที่เกื้อหนุนเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประโยชน์ต่อกลุ่ม โดยต้องส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องหาแนวทางเพื่อเปลี่ยนค่านิยมและความเชื่อของเกษตรกรที่ยังใช้ปุ๋ยเคมีให้หันมาสนใจเกษตรแบบธรรมชาติ ซึ่งเกื้อกูลต่อสภาพแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น อันจะนำไปสู่วิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนต่อไป
**********************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--